วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ประเภทของสมาธิ

โดยทั่วไปสมาธิ สามารถจัดแบ่งได้หลายประเภทตามหลักปฏิบัติ วิธีการ อื่นๆ อีกมากมาย การฝึกสมาธิ  เพื่อการแสดงฤทธิ์ทางใจในรูปของการปลุกเสก ร่ายคาถาอาคม เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ผู้คนเกิดศรัทธาชื่นชมยกย่องในความเก่งกล้าสามารถ หรือการฝึกสมาธิบางประเภทก็มุ่งเพื่อการเจริญสติก่อให้เกิด ปัญญา นำไปสู่ทางพ้นทุกข์   ในเบื้องต้นนี้สมาธิสามารถจัดแบ่งเป็นประเภทได้ ดังต่อไปนี้ คือ

๑. สมาธิ  ๒  ได้แก่
-  อุปจารสมาธิ   สมาธิจวนจะแน่วแน่
-  อัปปนาสมาธิ  สมาธิแน่วแน่  หมายเอาสมาธิในองค์ฌาน

๒.  สมาธิ  ๓  ได้แก่
-  ขณิกสมาธิ  สมาธิชั่วขณะ
-  อุปจารสมาธิ   สมาธิจวนจะแน่วแน่
-  อัปปนาสมาธิ  สมาธิแน่วแน่   หมายเอาสมาธิในองค์ฌาน

๓.  สมาธิ ๓ ได้แก่
-  สุญญตสมาธิ  คือสมาธิที่กำหนดพิจารณาความว่างได้แก่ตัววิปัสสนาที่ให้ถึง ความหลุดพ้น ด้วยการกำหนดอนัตตลักษณะ
-  อนิมิตตสมาธิ   คือ สมาธิที่กำหนดพิจารณาธรรมที่ไม่มีนิมิต  ได้แก่ตัววิปัสสนาที่ให้ถึง ความหลุดพ้นด้วยการกำหนด อนิจจลักษณะ
-  อัปปณิหิตสมาธิ   คือ สมาธิที่กำหนดพิจารณาธรรมไม่มีความตั้งปรารถนา ได้แก่ ตัววิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยการกำหนดทุกขลักษณะ

            ในบรรดาสมาธิ    ๓  ประเภทนี้  สมาธิ  ๒  สมาธิ  ๓  ข้างต้น  เป็นสมาธิที่เกิดจากการเจริญสมถกรรมฐาน  เพราะการเจริญสมถะจะทำให้เกิดสมาธิขั้นใดขั้นหนึ่ง  ถึงอัปปนาสมาธิ   ส่วนสมาธิ  ๓ ประเภทหลัง   ได้แก่สมาธิที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนา  โดยการกำหนดพิจารณาไตรลักษณ์

วิธีฝึกสมาธิ   ที่ได้ยึดถือปฏิบัติกันสืบ ๆ  มาตามแนวคัมภีร์วิสุทธิมรรค   มีลำดับขั้นตอนดังนี้  
        (๑)  ตัดปลิโพธิ  
        (๒)  เข้าหากัลยาณมิตร  
        (๓)  รับเอากรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง  ใน  ๔๐  อย่าง  
        (๔)  อยู่ในวัดที่เหมาะสมกับการเจริญสมาธิ  

        (๕)  ปฏิบัติตามวิธีเจริญสมาธิ   การเจริญสมาธิ  จิตจะประณีตขึ้นตามลำดับ   เป็นขั้น ๆ  ภาวะจิตจะสงบเป็นสมาธิถึงขั้นอัปปณา  เป็นสมาธิที่เกิดจากองค์ฌาน  หรืออาจกล่าวได้ว่า  ผลจากการเจริญสมาธิจะทำให้ได้ฌานสมาบัติ   ฌานสมาบัติแม้เป็นสภาวะแห่งจิตที่ลึกซึ้ง   แต่ก็ยังเป็นเพียงระดับโลกีย์เท่านั้น   ไม่ใช่จุดหมายที่แท้จริงของพุทธปรัชญา   ในภาวะแห่งฌานที่เป็นผลของสมาธินั้นกิเลสต่าง ๆ จะสงบระงับไปชั่วคราว   ไม่ยั่งยืนแน่นอน  คือกิเลสระงับไปเพราะถูกกำลังสมาธิข่มไว้   เหมือนหินทับหญ้า  ยกหินออกเมื่อใดหญ้าก็กลับงอกขึ้นได้อีกอย่างไรก็ตาม   แม้ฌานจะไม่ใช่จุดหมายของพุทธปรัชญาก็ตาม  แต่สามารถนำเอาฌานที่ได้ใช้เป็นบาทเจริญวิปัสสนาต่อ  เพราะจิตที่เป็นสมาธิเป็นจิตที่ควรแก่การงาน   พร้อมที่จะถูกพัฒนาให้สูงขึ้น  ๆ  จนถึงบรรลุธรรมขั้นสูงสุด.

          จุดประสงค์ของการฝึกสมาธิก็เพื่อการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน  เพื่อได้ญาณทัศนะเพื่อมีติสัมปชัญญะ  และเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย  สมดังพุทธพจน์ว่า ภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา   (การเจริญสมาธิ)   มี ๔  อย่าง   คือสมาธิภาวนา   ที่เจริญแล้ว  ทำให้มากแล้ว   ย่อมเป็นไปเพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหาร  สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว   ทำให้มากแล้ว   ย่อมเป็นไปเพื่อการได้ฌานทัศนะ  สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว   ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว   ทำให้มากแล้ว   ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่ง อาสวะทั้งหลาย
          จากพุทธพจน์   แสดงให้เห็นว่า   สมาธิที่เจริญดีแล้ว   ย่อมได้ประโยชน์  ๔ ประการ  คือสามารถดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความสุขในปัจจุบัน,  มีญาณทัสสนะที่ถูกต้อง,  มีสติสัมปชัญญะ  และที่สำคัญคือไม่มีกิเลสอันได้แก่  อวิชชา  ตัณหา   อุปาทาน   มารบกวน นับได้ว่าเป็นจุดหมายปลายทางของพุทธปรัชญา
สมาธิ  ในพุทธปรัชญา  หมายถึง  ภาวะที่จิตแน่วแน่   มั่นคง  หรือ ภาวะที่จิต  ตั้งมั่น  และยังมีความกว้างไปถึงการกำหนดพิจารณาไตรลักษณ์ด้วย ได้แก่  สมาธิที่เป็นตัววิปัสสนาที่พิจารณาเห็นสภาพตามความเป็นจริงตามลักษณะทั้งสามนั้น  และเป็นข้อที่ให้สำเร็จความหลุดพ้น สมาธิที่เป็นตัววิปัสสนานี้  ได้แก่  สุญญตสมาธิ,  อนิมิตตสมาธิ  และ อัปปณิหิตสมาธิ  




อ้างอิง
https://www.gotoknow.org/posts/215524



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น