วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อนุปุพพิกถา

อนุปุพพิกถาปลว่า ถ้อยคำที่กล่าวโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้นขึ้นไป คือ พระธรรมเทศนาที่แสดงความลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ เพื่อฟอกอัธยาศัยของสัตว์ให้หมดจดและประณีตขึ้นไปเป็นชั้นๆ จากง่ายไปหายาก เพื่อเตรียมจิตของผู้ฟังให้พร้อมที่จะรับฟังอริยสัจ ๔ 

อนุปุพพิกถา มี ๕ ประการ คือ 
๑.  ทานกถา ถ้อยคำที่พรรณานาทาน
๒.  สีลกถา ถ้อยคำที่พรรณนาศีล
๓.  สัคคกถา ถ้อยคำที่พรรณนาสวรรค์
๔.  กามาทีนวกถา ถ้อยคำที่พรรณนาอาทีนพคือโทษของกาม
๕.  เนมขัมมานิสังสกถา ถ้อยคำที่พรรณนาอานิสงส์ของเนกขัมมะ คือ การออกจากกาม.

๑. ถ้อยคำที่พรรณนาทานนั้น ทาน แปลว่า ให้  เป็นชื่อของวัตถุแปลว่าวัตถุที่ให้ เป็นชื่อของเจตนาแปลว่าเจตนาเป็นเหตุให้ ทางพระพุทธศาสนาแสดงทานด้วยมุ่งให้บุคคลทำการบริจาค เป็นการสงเคราะห์ อนุเคราะห์ หรือ บูชา เป็นการเผื่อแผ่ความสุขให้แก่ผู้อื่นและด้วยมุ่งกำจัดโลภะคือความโลภ มัจฉริยะคือความตระหนี่ในจิตใจของตนด้วย แต่ว่าทานในพระพุทธศาสนาที่จะมีผลมากนั้นต้องประกอบด้วยวัตถุสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยวัตถุ คือสิ่งที่ให้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์แก่ผู้รับตามสมควร ไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีโทษ เจตนาสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยเจตนา คือมีเจตนาดี ตั้งแต่เมื่อก่อนให้ ในขณะที่ให้ และในภายหลังที่ให้แล้ว กับปฏิคคาหกสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยปฏิคาหกคือผู้รับ หมายถึงว่าผู้รับก็ต้องเป็นผู้สมควร เช่น เป็นผู้ที่ควรอนุเคราะห์ เป็นผู้ที่ควรสงเคราะห์ เป็นผู้ที่ควรบูชาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ทานที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญจึงต้องเป็นทานที่เรียกว่า มีการเลือกให้  ไม่ใช่ให้โดยไม่เลือก คือต้อง เลือกวัตถุ เลือกเจตนา เลือกบุคคลผู้รับ กับต้องดูให้พอเหมาะสม ไม่ทำตนเองให้ต้องลำบากเพราะการให้

๒. ทรงแสดง ศีล ตามศัพท์แปลว่า ปกติ หมายถึง ความปรกติทางกาย ปรกติวาจา ปรกติใจ ไม่ถูกกิเลสดึงไปให้ประพฤติทุจริตต่าง ๆ  ฉะนั้น จึงต้องมี วิรัติเจตนา ความตั้งใจงดเว้นจากความชั่วนั้น ๆ จึงจะเป็นศีล ศีลในพระพุทธศาสนานั้นอย่างต่ำก็คือ ศีล ๕ ไม่แก่ เจตนางดเว้นจากภัยหรือเวร ๕ ประการ ฉะนั้น ศีลจึงเท่ากับเป็นความไม่มีเวร ไม่มีภัย เมื่อรักษาศีล ก็เท่ากับว่า ทำอภัยทาน คือให้อภัยแก่สัตว์ทั้งหลาย และตัวผู้มีศีลเองก็เป็นผู้ไม่ก่อภัย ก่อเวรขึ้นแก่ตัวเองด้วย.

 ๓. ทรงแสดง สวรรค์ คำว่า สวรรค์ ก็ออกมาจากศัพท์บาลีว่า สคฺค แปลว่า ที่เป็นที่ข้องเป็นที่ติด ก็ได้  ที่เป็นที่มีอารมณ์อันเลิศ ก็ได้  ตามที่เข้าใจกัน สวรรค์เป็นโลกอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งบุคคลผู้ทำความดีจะพึงเข้าถึงในเวลาที่สิ้นชีวิตไปจากโลกนี้แล้ว และในคัมภีร์ก็แสดงสวรรค์ไว้มาก เช่น สวรรค์กามาพจร ที่แปลว่า ชั้นที่ยังหยั่งลงในกาม ๖ ชั้น แต่สวรรค์ดั่งกล่าวนี้ เป็นเรื่องที่มีแสดงไว้ในตำราเก่าก่อนพระพุทธศาสนา และมาถึงพระพุทธศาสนาก็ยังมีติดมาในคัมภีร์พระพุทธศาสนา แต่ก็ติดมาไม่หมด คือติดมาบางส่วน ทรงแสดงสวรรค์ ชี้ลงไปกลาง ๆ จะในเวลาไหน คือในบัดนี้ หรือในอนาคต ในโลกนี้ หรือในโลกหน้าก็ตามที เมื่อมีผลเป็นเช่นนี้อยู่ในที่ใด ในที่นั้นก็ชื่อว่าเป็นสวรรค์ เพราะจัดเป็นที่มีอารมณ์อันเลิศ มีอารมณ์ที่งดงาม และในขณะเดียวกันก็เป็นที่ข้องที่ติดเป็นอย่างยิ่งด้วย คือว่าเป็นที่ปรารถนาพอใจอย่างยิ่ง สวรรค์ดังกล่าวมานี้ จำต้องอาศัยทาน อาศัยศีลเห็นตุ พิจารณาดูตามกระแสปัจจุบัน ก็จะเห็นเข้าเรื่องกันได้กับสวรรค์ ๖ ชั้น ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสนั้น คือเมื่อต่างมีทานเฉลี่ยเผื่อแผ่ให้ความสุขแก่กันและกัน และมีศีลไม่เบียดเบียนกันและกัน ให้อภัยกันและกัน ก็จะต่างมีความสุขด้วยกัน เมื่อมีความสุขด้วยกันอยู่ ก็จะมีความเจริญตา เจริญหู เจริญจมูก เจริญลิ้น เจริญกาย เจริญใจ ปราศจากความทุกข์ ที่เกิดจากความคับแค้น และที่เกิดจากการเบียดเบียนกัน ก็เป็นผลที่เรียกได้ว่าสวรรค์อยู่แล้ว

๔.ทรงแสดง กามาทีนพ คือโทษของกาม สวรรค์ได้ชื่อว่าเป็นกาม คือเป็นที่รักใคร่ ที่ปรารถนา ที่พอใจ เป็นอย่างยิ่ง คำว่า กาม นั้น เป็นวัตถุที่เป็นภายนอกดั่งกล่าวนั้นส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นชื่อของกิเลสในใจของบุคคล คือเป็นชื่อของความใคร่ ความปรารถนา ความพอใจ เมื่อมีความใคร่ ความปรารถนา ความพอใจ เป็นกิเลสกามในจิตใจ วัตถุข้างนอกจึงได้พลอยเป็นกามไปด้วย แต่ถ้าจิตใจไม่มีกิเลสกามอยู่ วัตถุข้างภายนอกก็เป็นวัตถุเฉย ๆ ไม่เป็นกามของผู้นั้น เหมือนอย่างบุคคลสามัญซึ่งมีกิเลสกามอยู่ในใจ เมื่อไปในที่ไหน ในที่นั้นก็เป็นกามของเขา เพราะว่าเป็นที่รักใคร่ ปรารถนา พอใจ แต่พระอรหันต์จะไปในที่ไหน ในที่นั้นไม่เป็นกามของท่าน เพราะว่าท่านไม่มีความรักใคร่ปรารถนาพอใจ สิ่งนั้น ๆ ก็คงเป็นวัตถุนั้น ๆ อยู่โดยธรรมชาติเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงกามจึงมีความหมายสอง หมายถึงวัตถุภายนอกก็ได้ หมายถึงกิเลสในใจก็ได้ แต่ว่าโดยปรกติเมื่อกล่าวอย่างสามัญ คำว่ากามเป็นชื่อของวัตถุภายนอก เพราะเป็นที่ใคร่ ที่ปรารถนา ที่พอใจของบุคคลทั่วไป สวรรค์ แม้จะมีอารมณ์อันเลิศสักเท่าไร แต่ก็ยังเป็นกาม คือเป็นที่น่าใคร่น่าปรารถนา น่าพอใจ และเป็นสิ่งที่ต้องมีความแปรปรวน เปลี่ยนแปลงไป มีเกิด มีดับเหมือนอย่างวัตถุทั้งปวงในโลกถึงจะเปลี่ยนแปลงไปช้า ในที่สุดก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้น เมื่อไปมีความรักใคร่ปรารถนา พอใจมาก เมื่อสิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไป ก็ยิ่งทำให้ต้องเป็นทุกข์มาก เพราะฉะนั้น อันนี้จึงชื่อว่า อาทีนพ คือ โทษของกาม

๕. ทรงแสดง เนกขัมมะ คือ การออกจากกาม การออกจากกามนั้น ออกทางกาย ได้แก่ การออกบวชประการหนึ่ง ออกทางใจ ได้แก่ การทำจิตใจให้เป็นสมาธิ จนสงบสงัดจากกาม จากอกุศลกรรมทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เป็นเหตุทำให้จิตใจสงบและมีความสุข ตัดกังวลห่วงใยอันเกี่ยวกับกามด้วยประการทั้งปวง

เมื่อได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาทั้ง ๕ ประการนี้แล้ว ทรงพิจารณาเห็นว่า ผู้ฟังมีจิตแช่มชื่นผ่องใส ปราศจาก นิวรณ์ คือ กิเลสเครื่องกั้นจิต มีจิตบริสุทธิ์ผ่องใส สมควรที่จะรับพระธรรมที่สูงขึ้นไป เหมือนอย่างผ้าที่ซักให้สะอาดปราศจากมลทินต่าง ๆ ควรที่จะรับน้ำย้อมได้แล้ว จึงได้ทรงแสดงอริยสัจ ๔  คือ ทรงชี้ทุกข์ ชี้สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ชี้นิโรธ ความดับทุกข์ ชี้มรรค ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ โดยนัยดั่งในปฐมเทศนานั้น  อริยสัจ ๔ นี้ เรียกว่า สามุกฺกํสิกธมฺมเทสนา คือ เป็นพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นแสดงเอง เพราะได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง โดยปรกติเมื่อได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ แล้ว ผู้ฟังก็เกิดดวงตาเห็นธรรม ที่ท่านแสดงว่าได้เป็นพระโสดาบันในพระพุทธศาสนา.

อนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ นี้ ตามประวัติในพระพุทธศาสนาปรากฏว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแก่มนุษย์ซึ่งเป็นคฤหัสถ์ ไม่ทรงแสดงแก่เทพยดาหรือภิกษุ และผู้ที่จะทรงแสดงนั้น เป็นผู้ที่มีจิตเลื่อมใส เบิกบาน ควรที่จะได้รับผลจากการฟัง ฉะนั้น  จึงปรากฏว่าเมื่อได้ฟังจบลงแล้ว จึงได้รับผลคือได้ดวงตาเห็นธรรม. ดวงตาเห็นธรรมนั้น ตามศัพท์เรียกว่า ธมฺมจกฺขุ ท่านแสดงไว้ตรงกัน คือเห็นว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อเกิดความเห็นขึ้นอย่างนี้ เรียกว่า ได้ดวงตาเห็นธรรม หรือว่าเกิดธรรมจักษุ จะฟังเทศน์กัณฑ์ไหน ๆ ก็ตาม เมื่อเกิดดวงตาเห็นธรรม ก็จะต้องเกิดขึ้นอย่างนี้ พิจารณาดูก็น่าเข้าใจว่า คือ เห็นทุกข์นั้นเอง เห็นเกิดดับเรียกว่าเห็นทุกข์ หรือว่าเห็นทุกข์ คือ เห็นเกิดดับ โดยมาเห็นแต่เกิด อย่างเห็นชีวิตของเราในบัดนี้ เรารู้จักกันแต่เกิด แต่ว่าไม่รู้สึกว่าจะดับ  ดับนั้นเราคิดว่าอยู่ข้างหน้า คือว่ายังไม่มาถึง ในปัจจุบันก็คือเกิดและยังดำรงอยู่ ยังไม่เห็นดับเป็นคู่กันไป แต่ความเห็นที่จะเรียกว่าเห็นธรรมนั้น ต้องเห็นดับคู่ไปกับเกิดพร้อมกัน เมื่อเห็นดับคู่ไปกับเกิดพร้อมกันแล้ว กิเลสก็ไม่มีที่ตั้ง จะตั้งความชอบ ความชัง ไว้ที่ไหน ความชอบ ความชัง ที่เป็นกิเลสนั้นจะตั้งอยู่ได้ ต้องตั้งในสิ่งที่เราเห็นว่า ยังมีอยู่ ยังเป็นอยู่ คือในสิ่งที่ยังเกิดอยู่ แต่ว่าถ้าเห็นว่าดับเสียแล้ว กิเลสก็ไม่มีที่ตั้งชอบก็ไม่มีที่ตั้ง เพราไม่มีอะไรจะตั้ง เพราะเห็นว่าดับเสียแล้ว.




อ้างอิง
http://www.phuttha.com/พระพุทธเจ้า/อนุปุพพิกถา

                                        





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น