วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วิปัสสนากรรมฐาน

วิปัสสนากรรมฐาน คือ กรรมฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา, กรรมฐานทำให้เกิดการรู้แจ้งเห็นจริง หมายถึงการปฏิบัติธรรมที่ใช้สติเป็นหลัก วิปัสสนากรรมฐานบำเพ็ญได้ โดยการพิจารณาสภาวธรรมหรือนามรูป คือ ขันธ์ ธาตุ อายตนะอินทรีย์ให้เห็นตามความเป็นจริง คือ เห็นด้วยปัญญาว่าสภาวธรรมเหล่านี้ ตกอยู่ในสามัญลักษณะหรือไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม  เป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

วิปัสสนากรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่มุ่งอบรมปัญญาเป็นหลักคู่กับ สมถกรรมฐาน ซึ่งมุ่งบริหารจิตเป็นหลัก ในคัมภีร์ทางพระศาสนาทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถาทั่ว ๆ ไปมักจัดเอาวิปัสสนาเป็นแค่ สุตมยปัญญาและจินตามยปัญญา เพราะในวิภังคปกรณ์พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างนั้น ทั้งนี้ก็ยังพอจะอนุโลมเอาวิปัสสนาว่าเป็นภาวนามยปัญญา ได้อีกด้วย เพราะในฎีกาหลายที่ท่านก็อนุญาตไว้ให้ ซึ่งท่านคงอนุโลมเอาตามนัยยะพระสูตรอีกทีหนึ่ง และในอรรถกถาปฏิสัมภิทามรรคท่านก็อนุโลมให้เพราะจัดเข้าได้ในภาวนามัยบุญกิริยาวัตถุข้อ ๑๐

จุดมุ่งหมายในการทำวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นการปฏิบัติทางจิต เพื่อให้จิตเกิดการเรียนรู้จดจำสภาวะการดับของขันธ์ ๕ การดับซึ่งรัก โลภ โกรธ หลง ทั้งหลาย ที่เกิดผ่านอายตนะภายในและภายนอกทั้ง ๑๒ คือ ตา(รูป) หู(เสียง) จมูก(กลิ่น) ลิ้น(รส)กาย(สัมผัส) ใจ(ธรรมารมณ์) 

เมื่อผู้ปฏิบัติมีสติรู้เท่าทันจิต ให้เห็นการเกิดดับของจิตในทุกสภาวะธรรมของขันธ์ ๕ ที่เกิดขึ้นได้ นั่นแสดงว่าจิตพร้อมที่จะทำสงครามกับกิเลส ตัณหาแล้ว

ธรรมะที่ใช้ในการทำลายกิเลส ( ดับขันธ์ ๕ )

ไตรลักษณ์ : คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
อริยสัจ ๔ : รู้ทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ รู้วิธีดับทุกข์ รู้มรรคแห่งความพ้นทุกข์ทั้งหลาย
กรรมฐานต่างๆ : มรณานุสสติ พุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ กายคตาสติกรรมฐาน
อสุภกรรมฐาน เป็นต้น
สติปัฏฐาน ๔ : กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม

สภาวะการดับของขันธ์ ๕  
ขันธ์ ๕ ประกอบด้วย ๑. รูป ๒.เวทนา ๓.สัญญา ๔.สังขาร ๕.วิญญาณ

รูปขันธ์ดับ(รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสทางกาย สัมผัสทางใจ) เห็นแล้วสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ฯลฯ
เวทนาขันธ์ดับ       ความรู้สึกทุกข์ สุข หรือไม่ทุกข์ไม่สุข(เฉยๆ) จึงไม่บังเกิดขึ้น
สัญญานขันธ์ดับ    ความจำหมายรู้ในสิ่งที่ปรากฏ พึงไม่บังเกิด
สังขารขันธ์ดับ       ความคิดปรุงแต่งทั้งหลาย พึงไม่บังเกิด
วิญญาณขันธ์ดับ ความรู้ทางอารมณ์ทั้งหลายที่พึงบังเกิดจึงไม่บังเกิด เช่น อารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง เป็นต้น

ขั้นตอนการปฏิบัติ
๑.ต้องมีสติรู้เท่าทันจิต จิตจึงจะสามารถรับรู้ทุกสภาวะธรรมของขันธ์5ที่เกิดขึ้น(เจริญสติ)
๒.ทรงฌานเป็นอารมณ์ ผู้ที่ทรงฌานเป็นอารมณ์เป็นผู้ที่มีสติอยู่ตลอดเวลา เมื่อปฏิบัติถึงจุดหนึ่ง จะเป็นผู้ที่มีสติตามรู้ได้โดยอัตโนมัติ (พระโสดาบันทรงฌานเป็นปกติ) 
๓.เอาจิตเข้าไปจับให้เห็นซึ่งสภาวะธรรมของขันธ์5 ที่เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า (เป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่เจตนาให้เกิด) แล้วให้ใช้ธรรมะเพื่อทำลายกิเลสตามที่กล่าวมาแล้ว ไปดับกิเลสที่เกิดขึ้น นี่เป็นวิธีการให้จิตได้เรียนรู้จดจำสภาวะการดับของขันธ์
.การเลือกใช้ธรรมะ(ธรรมวิจัย) จะใช้ธรรมะข้อใดนั้น ขึ้นอยู่กับกิเลสที่เกิดขึ้นในขณะนั้น  เช่น
ความโลภ ให้ใช้มรณานุสสติ เมื่อเรานึกถึงความตายเป็นปกติ คลายความยึดมั่นถือมั่น ความต้องการในวัตถุสิ่งของ ให้คิดว่าเราอาจจะตายได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นที่เราจะต้องมีวัตถุ สิ่งของเกินความจำเป็น
ราคะ ให้ใช้กายคตาสติกรรมฐาน โดยพิจารณาว่าร่างกายของเรานั้นสกปรก เต็มไปด้วยอุจจาระปัสสาวะ น้ำเลือด น้ำหนอง ร่างกายของบุคคลที่เรารักก็เช่นกัน เราจะไปยึดถือในร่างกายนี้ทำไม หรือเป็นเรื่องของไตรลักษณ์ บุคคลนี้ปัจจุบันนี้หล่อ สวย อีกห้าสิบปีจะเป็นเช่นไร ไม่ช้าต้องตายในที่สุด ทั้งหลายนั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์ ความตาย การพลัดพรากจากกันนั้นเป็นทุกข์
ความหลง ให้ใช้ธรรมานุสสติกรรมฐาน เป็นต้น
ข้อควรระวัง เจตนาในการเอาจิตเข้าไปจับเพื่อพิจารณาเหตุใดเหตุหนึ่งนั้นไม่ใช้วิปัสสนา แต่อย่างไรก็ตามเจตนาก็สามารถเปลี่ยนมาเป็๋นวิปัสสนาได้เช่นกัน เพราะสิ่งที่กระทบย่อมเปลี่ยนแปลง เมื่อความจริงที่ปรากฏพ้นสภาวะของเจตนา เจตนาจึงเปลี่ยนเป็นไม่เจตนา โดยขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัย ณ.ขณะนั้น

      ๕.ให้รู้ถึงสภาวะการเกิดดับของจิต ภายหลังจากที่ได้ใช้ธรรมะประหัตประหารกิเลส ที่เกิดขึ้นในสภาวะธรรมของขันธ์5แล้ว แต่กิเลสยังคงปรากฏอยู่ จะต้องไม่หักห้ามกิเลสนั้นหรือต้องไม่พยายามที่จะตัดกิเลสที่เกิดขึ้นนั้น ให้ปล่อยอารมณ์ที่เกิดขึ้นให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพียงแต่ต้องมีสติตามรู้เท่าทันจิต ให้เห็นถึงการเกิดดับของสภาวะธรรมเหล่านั้น คือเห็นถึงการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปของกิเลสนั้นๆ เมื่อเกิดกิเลสก็รู้  เมื่อกิเลสยังคงตั้งอยู่ก็รู้ เมื่อกิเลสนั้นดับไปก็รู้
ตัวอย่าง เมื่อเรามีราคะเกิดขึ้น สติรู้สภาวะทางอารมณ์ทีเกิดขึ้นได้ทันที ให้เอาจิตเข้าไปจับ พิจารณาความเป็นจริงในสิ่งที่ปรากฏ ถึงความไม่เที่ยงของสิ่งที่กระทบ ให้รู้ถึงความไม่คงทนถาวร ต้องเสื่อมสลายไปตามธรรมชาติ การเกิดขึ้นของอารมณ์ทั้งหลายเรารู้ การตั้งอยู่ของอารมณ์ทั้งหลายเรารู้ ตั้งอยู่นานแค่ไหนก็รู้ เพียงให้มีสติตามรู้ความคงอยู่ของอารมณ์นั้นๆ เมื่อเอาจิตเข้าไปจับตามข้อ ๓ เพื่อดับอีกหลายๆครั้ง ในที่สุดอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นก็ดับลง และเมื่ออารมณ์ทั้งหลายดับ เราก็ต้องมีสติรู้ ดับรูปขันธ์ เมื่อเราทำเช่นนี้บ่อยครั้งเข้า จิตจะเกิดการเรียนรู้จดจำ ในครั้งต่อไปถ้ามีเหตุการณ์เช่นเดียวกันเกิดขึ้น เราก็จะสามารถดับอารมณ์ทั้งหลายได้อย่างรวดเร็วขึ้น หลายครั้งเข้า จนสามารถปล่อยวางได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องงัดข้อธรรมะทั้งหลายมาใช้อีก เพราะว่าจิตได้จดจำสภาวะการดับของขันธ์นั้นเป็นอย่างดีแล้ว หรือด้วยเกิดปัญญาญาณที่สามารถพิจารณาสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงได้ 

         ในที่สุดเมื่อมีสิ่งใดมากระทบจิต จิตก็จะเกิดความว่างเป็นปกติ ด้วยเหตุว่าจิตเห็นทุกข์ทั้งหลายแต่ไม่เอาทุกข์นั้นไว้ เพราะเห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ลิ้มรสสักแต่ว่าลิ้มรส ได้กลิ่นก็สักแต่ว่าได้กลิ่นสัมผัสทางกายก็สักแต่ว่าสัมผัสทางกาย สัมผัสทางใจก็สักแต่ว่าสัมผัสทางใจ เมื่อรูปขันธ์ดับ นามขันธ์จึงไม่เกิด  กำลังของสติเพิ่มความสามารถในการรู้เท่าทันจิต กำลังของสติที่เกิดจากการฝึกสมาธิ(สมถะ)ดีแล้ว จะทำให้มีสติรูัเท่าทันจิต และถ้าสามารถทรงฌาน(ทรงสติปัฏฐานสี่)เป็นอารมณ์ได้อย่างเป็นปกติด้วยแล้ว ทุกครั้งเมื่อมีเหตุมากระทบ จิตจะสามารถรู้ถึงความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏได้อย่างอัตโนมัติ การทรงสติปัฏฐานสี่นั้นสามารถทำได้ในทุกอริยะบถ เช่น ยืน เดิน  นั่ง นอน และในทุกอริยบท การทรงฌานด้วยอานาปานสติกรรมฐาน ถือว่าเหมาะกับการทำวิปัสสนากรรมฐานเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อมีเหตุที่ไม่ได้คาดหมายเกิดขึ้น จิตก็จะหันไปจับลมหายใจเป็นอัตโนมัติสติจึงบังเกิด ทำให้จิตสามารถรับรู้ถึงสภาวะธรรมของขันธ์ ๕ ที่เกิดขึ้นได้ทันที



อ้างอิง
https://th.wikipedia.org/wiki/วิปัสสนากรรมฐาน
https://sites.google.com/site/chamcharat2/chit


กรรมฐาน คืออะไร

กรรมฐาน  เป็นคำเรียกโดยรวมในหมวดของการปฏิบัติธรรมประเภทหนึ่งในพระพุทธศาสนา หมวดกรรมฐาน ประกอบด้วย ตัวกรรมฐาน และโยคาวจร  ตัวกรรมฐาน คือ สิ่งที่ถูกเพ่ง ถูกพิจารณา ได้แก่ อารมณ์ต่าง ๆส่วนโยคาวจร คือ ผู้เพ่งหรือผู้พิจารณา ได้แก่ สติสัมปชัญญะและความเพียร การฝึกกรรมฐานว่าโดยธรรมาธิษฐานจึงหมายถึงการใช้สติสัมปชัญญะพิจารณาอารมณ์ ที่มากระทบ อย่างระมัด ระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น เพียรหมั่นระลึกถึงกุศลและรักษากุศลนั้นอยู่มิให้เสื่อมไป  หากกล่าวถึง คำว่า กรรมฐาน เราจะ เข้าใจกันว่า กรรมฐาน คือ สมาธิหรือการนั่งหลับตาท่องคำซ้ำ ๆ ซึ่งเป็นการกระทำบางอย่างที่ต่างไปจากพฤติกรรม การให้ทาน การรักษาศีล แต่สำหรับความหมาย ที่มีมาในพระบาลี ตามนัยแห่งมูลฎีกาแสดงวินิจฉัยคำ “กรรมฐาน” ไว้ว่า

                                      กมฺมเมว วิเสสาธิคมนสฺส ฐานนฺติ กมฺมฐาน


                  แปลว่า การงานที่เป็นเหตุแห่งการบรรลุคุณวิเศษ  ชื่อว่า “กรรมฐาน

กล่าวโดยสรุป การฝึกกรรมฐานเป็นการกระทำกุศลกรรมชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะมโนกรรม ต่างจากกรรมทั่วไป  ตรงที่เป้าหมายการกระทำเป็นไปเพื่อความสิ้นภพชาติ สิ้นทุกข์ ไม่ต้องไปเกิดในแหล่งกำเนิดใดอีก เนื่องจากจิตต้องอิงอาศัยอารมณ์จึงเกิดขึ้นได้ และธรรมชาติของจิตมีความสัดส่ายไปตามอารมณ์ ไม่อาจหยุดนิ่งเพื่อการพิจารณาแม้เพียงชั่วครู่ จึงจำเป็นต้องใช้อุบายบางอย่าง เพื่อลดความสัดส่าย โดยหาสิ่งที่ไม่เป็นโทษให้จิตอิงอยู่ อุบายที่ว่านี้คือ  ที่มาของกิจกรรมที่เรียกว่ากรรมฐาน

 อุบายดังกล่าวแยกออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
๑. อุบายสงบใจ  กล่าวคือ อาศัยวิธีการท่องถ้อยคำบางอย่างซ้ำ ๆ กัน และบังคับตนเองในลักษณะ การสร้างแนวคิด เกี่ยวกับคำนั้น สิ่งที่เราสร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นแนวคิด ความคิด หรือภาพพจน์ของคำ ๆ นั้น ล้วนเป็นองค์ประกอบของความสงบที่เรียกว่า    สมถกรรมฐาน

๒. อุบายเรื่องปัญญา อาศัยความรู้สึกตัวที่มีอยู่ รู้ถึงการสัมผัสทางทวารทั้ง ๖ รู้ถึงปรากฏการณ์ทางจิต ขณะร่างกายมีการกระทบสิ่งเร้า เฝ้าติดตามการรับรู้นี้ด้วยความตั้งใจ เมื่อมีความตั้งใจอยู่ที่ การรับ กระทบความคิดต่าง ๆ ก็จะถูกตัดออกไป จนไม่สามารถสอดแทรกเข้ามาได้ ไม่เปิดโอกาส ให้มีการก่อตัว ของแนวคิด ภาพลักษณ์หรือความคิดใด ๆ ตามมา เท่ากับเป็นการรู้เท่าทัน กระบวนการที่เกิดขึ้นโดยตรงในทันทีที่เกิดขึ้น จึงไม่เกิดการบิดผันใด ๆ ทางด้านความคิดนี้ คือ  ส่วนของกิจกรรมที่เรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน

             เนื่องจากกรรมฐานเป็นกุศโลบายบางอย่างที่เกิดจากความตั้งใจสร้างแนวคิดขึ้นหรือไม่ก็เป็นการตั้งใจรับความรู้สึกโดยไม่ผ่านแนวคิด อารมณ์ที่จิตอิงอยู่จึงไม่เหมือนอารมณ์ทั่วไป ที่รับรู้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน ภาพลักษณ์และความรู้สึกตัวเป็นผลมาจากความตั้งใจ ดังกล่าว และถูกจัดเป็นหมวดหมู่ของอารมณ์พิเศษที่มีหลักการและวิธีการรับรู้เป็นการเฉพาะสำหรับกรรมฐานแต่ละประเภท เช่น แนวคิดของคำหรือภาพลักษณ์ที่สร้างขึ้นจากสมถกรรมฐาน ๔๐ อย่าง หรือความรู้สึกตัวในนาม-รูปจากวิปัสสนากรรมฐาน  มีขันธ์ อายตนะ เป็นต้น อารมณ์พิเศษและวิธีการเฉพาะนี้มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาได้โดยบังเอิญ หรือนึกคิดจะทำตามความนิยมที่สืบต่อกันมาก็ทำได้  แต่เป็นสิ่งที่ต้องการความเข้าใจในเหตุปัจจัยและหลักการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลตามที่ต้องการ ดังนั้น การเข้าหาอาจารย์ผู้มีความชำนาญในการใช้อุบายกรรมฐาน การรู้ถึงจริตอัธยาศัยผู้เรียน การอยู่ในสถานที่ที่ไม่พลุกพล่าน มีการเรียนการสอน และการปฏิบัติควบคู่กันไป และการอุทิศเวลาบางส่วนเพื่อศึกษาและปฏิบัติจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเจริญกรรมฐาน

ความสำคัญของกรรมฐาน
 ความทุกข์เป็นสิ่งที่ชีวิตไม่ต้องการ พระพุทธศาสนาแบ่งความทุกข์ไว้ ๒ อย่าง คือทุกข์ประจำและทุกข์จร ทุกข์ประจำ หมายถึง ทุกข์ที่มาพร้อมชีวิต คือ การเกิด แก่ ตาย ไม่มีใครหลีกเลี่ยงทุกข์ประจำนี้ได้ ส่วนทุกข์จรได้แก่ ความเศร้าโศก รำพัน ต้องอาลัยไม่ขาด การไม่สมความปรารถนา และการพลัดพรากจากของรัก เป็นต้น เป็นเพียงทุกข์ที่ผลัดกันเกิดขึ้นในระหว่างที่เกิดแก่และตายนั่นเอง อาจจะบรรเทาได้บางส่วนตามสมควร แต่ก็ไม่อาจทำให้ทุกข์จรนั้น หมดไปได้เช่นกัน สังคมในอดีตเคยต้องเกิด แก่ ตายอย่างไร ปัจจุบันแม้จะมีเทคโนโลยี ที่ก้าวหน้าทันสมัยอย่างไร เทคโนโลยีเหล่านั้น ก็ยังไม่อาจ แก้ปัญหาชีวิตที่ต้องแก่และต้องตายของชีวิตใครได้
             พระพุทธศาสนามิได้สอนหรือบังคับให้หนีสังคม มิได้ถ่วงความเจริญ หรือพยายามหยุดยั้งเทคโนโลยีที่กำลังก้าวกระโดดนั้น อย่างที่หลายคนเข้าใจกัน ที่จริงแล้วจะมีเทคโนโลยีหรือไม่มีก็ตาม ปัญหาก็มิได้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นจากเดิม ทั้งนี้เทคโนโลยีต่าง ๆ มีทั้งส่วนที่ให้คุณและให้โทษ ขึ้นอยู่กับผู้ที่นำไปใช้มากกว่า จุดยืนทางศาสนาอยู่ที่การเป็นสัญญาณ เตือนภัยที่จะเกิดแก่มนุษย์ ภัยนั้นมีอยู่รอบด้านโดยเฉพาะภัยทางความคิด ซึ่งมนุษย์มองไม่เห็นและไม่เชื่อว่าเป็นภัยจริง  มุมมองที่คับแคบอาจทำให้มนุษย์มอง เห็นเพียงด้านเดียว  ของความสะดวกสบายจากเทคโนโลยี แล้วกล่าวอ้างถึงความเจริญทันสมัย เพื่อสนับสนุนความคิดของตน และเลือกที่จะทำตามความคิดนั้น จนละเลยปัญหาที่จะตามมาในภายหลัง  ศาสนามีหน้าที่แสดงความจริงเกี่ยวกับโลกและชีวิต แนะนำถึงความรอบคอบ  และรอบรู้ในการดำเนินชีวิต  โดยเกิดความเดือดร้อน น้อยที่สุด รอบรู้ว่าสิ่งใดควรคิดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ ช่วยให้มนุษย์เข้าใจชีวิตและส่วนที่เป็นปัญหา มีระเบียบในเรือนใจ และการยอมรับเหตุผล ทำให้สามารถหาทางออกจากความขัดแย้งและอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหาได้อย่างผู้รู้กาลเทศะ

 จุดมุ่งหมายของกรรมฐาน
 การฝึกกรรมฐาน  เป็นกิจกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา  เกิดขึ้นเพื่อเป็น พื้นฐานรับรองเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ดังกล่าว ในพระศาสนา แม้จะ มีจุดหมายสูงสุดอยู่ที่การบรรลุ คุณวิเศษ คือ มรรค ผล นิพพาน แต่ถ้าจิตใจยังพัฒนา ไม่ผ่านขั้นตอนการยอมรับ การเวียนว่ายตายเกิด  อันยาวนานของตนเอง หรือยังมีความสงสัยในเรื่องภพชาติ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันและที่จะเป็นไปในอนาคตแล้ว ขบวนการถอนรากถอนโคนกิเลสตัณหา อาสวะ และอนุสัยต่าง ๆ ในจิตใจอย่างจริงจังจะยังไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ภัยของภพชาตินั้น มาจาก ความจำเจวนเวียน ที่ชีวิตต้องอยู่กับ ความสุขบ้าง  ความทุกข์บ้าง  มีความผันแปรไปตามเหตุปัจจัย มิได้ผันแปรไปตาม ความต้องการของตนเอง   การเห็นภัยจึงมีความสำคัญทำให้ผู้เห็นภัยดังกล่าวยอมเปลี่ยนวิถีชีวิตจากที่เคยวนเวียน เป็นไปเนื่องด้วยกิเลสตัณหา   สู่วิถีชีวิตที่มีสติสัมปชัญญะดำเนินชีวิตไปตามทางมรรคได้อย่างมั่นคง  ความกลัวภัย ทำให้เราเปลี่ยนแนวความคิด เปลี่ยนความต้องการใหม่ ตรงนี้คือ จุดเริ่มของพระพุทธศาสนา การทำทาน รักษาศีล ไม่ช่วยให้เกิดความรู้สึกกลัวภัยได้   คนที่จะน้อมเข้ามาในการปฏิบัติกรรมฐานจะต้องเห็นภัยในวัฏสงสารก่อน จึงจะมองหาการปฏิบัติ แต่การปฏิบัติบางอย่างอาจทำให้เกิดความสุขมากมาย ซึ่งไม่ช่วยให้เห็นภัยของวัฏฏะ นั่นก็ไม่ตรงกับพระพุทธศาสนา  พื้นฐานความคิดเกี่ยวกับ  ภัยของวัฏสงสารจะได้จากการเรียนก่อน จากนั้นจึงน้อมเข้ามาสู่การปฏิบัติ
               การพิสูจน์การเวียนว่ายตายเกิดนั้น มิใช่เพียงการทำจิตให้สงบแล้วพาไปดูนรกสวรรค์หรือจินตนาการถึงพระนิพพาน  ว่าเป็นเมืองแก้วตามที่ได้ยินมา การยอมรับว่ามีนรกสวรรค์ดังกล่าว มีประโยชน์ในแง่ของการสร้างศรัทธา ที่จะทำความดี ละเว้นความชั่ว เพื่อความสุขของชีวิตในภพนี้และภพหน้า  แต่ไม่สามารถเปลี่ยนความเชื่อและทิฏฐิ ที่เป็นอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานได้ จึงมีความปรารถนาการเกิดอยู่เสมอไป ไม่รู้สึกว่าสังสารวัฏฏ์ จะเป็นภัย ต่อชีวิตตนเองได้อย่างไร การเผชิญ กับความเกิดดับ (ตาย) อย่างซ้ำซากเฉพาะหน้า จำต้องอาศัยความเข้าใจ และการปฏิบัติบำเพ็ญเพียรทางจิตขั้นเอกอุ จึงจะยอมรับภัยของชีวิตได้    ซึ่งมีวิธีการอยู่ ๒ วิธี คือ สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน




อ้างอิง
http://abhidhamonline.org/kammathana.htm

ประเภทของสมาธิ

โดยทั่วไปสมาธิ สามารถจัดแบ่งได้หลายประเภทตามหลักปฏิบัติ วิธีการ อื่นๆ อีกมากมาย การฝึกสมาธิ  เพื่อการแสดงฤทธิ์ทางใจในรูปของการปลุกเสก ร่ายคาถาอาคม เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ผู้คนเกิดศรัทธาชื่นชมยกย่องในความเก่งกล้าสามารถ หรือการฝึกสมาธิบางประเภทก็มุ่งเพื่อการเจริญสติก่อให้เกิด ปัญญา นำไปสู่ทางพ้นทุกข์   ในเบื้องต้นนี้สมาธิสามารถจัดแบ่งเป็นประเภทได้ ดังต่อไปนี้ คือ

๑. สมาธิ  ๒  ได้แก่
-  อุปจารสมาธิ   สมาธิจวนจะแน่วแน่
-  อัปปนาสมาธิ  สมาธิแน่วแน่  หมายเอาสมาธิในองค์ฌาน

๒.  สมาธิ  ๓  ได้แก่
-  ขณิกสมาธิ  สมาธิชั่วขณะ
-  อุปจารสมาธิ   สมาธิจวนจะแน่วแน่
-  อัปปนาสมาธิ  สมาธิแน่วแน่   หมายเอาสมาธิในองค์ฌาน

๓.  สมาธิ ๓ ได้แก่
-  สุญญตสมาธิ  คือสมาธิที่กำหนดพิจารณาความว่างได้แก่ตัววิปัสสนาที่ให้ถึง ความหลุดพ้น ด้วยการกำหนดอนัตตลักษณะ
-  อนิมิตตสมาธิ   คือ สมาธิที่กำหนดพิจารณาธรรมที่ไม่มีนิมิต  ได้แก่ตัววิปัสสนาที่ให้ถึง ความหลุดพ้นด้วยการกำหนด อนิจจลักษณะ
-  อัปปณิหิตสมาธิ   คือ สมาธิที่กำหนดพิจารณาธรรมไม่มีความตั้งปรารถนา ได้แก่ ตัววิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยการกำหนดทุกขลักษณะ

            ในบรรดาสมาธิ    ๓  ประเภทนี้  สมาธิ  ๒  สมาธิ  ๓  ข้างต้น  เป็นสมาธิที่เกิดจากการเจริญสมถกรรมฐาน  เพราะการเจริญสมถะจะทำให้เกิดสมาธิขั้นใดขั้นหนึ่ง  ถึงอัปปนาสมาธิ   ส่วนสมาธิ  ๓ ประเภทหลัง   ได้แก่สมาธิที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนา  โดยการกำหนดพิจารณาไตรลักษณ์

วิธีฝึกสมาธิ   ที่ได้ยึดถือปฏิบัติกันสืบ ๆ  มาตามแนวคัมภีร์วิสุทธิมรรค   มีลำดับขั้นตอนดังนี้  
        (๑)  ตัดปลิโพธิ  
        (๒)  เข้าหากัลยาณมิตร  
        (๓)  รับเอากรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง  ใน  ๔๐  อย่าง  
        (๔)  อยู่ในวัดที่เหมาะสมกับการเจริญสมาธิ  

        (๕)  ปฏิบัติตามวิธีเจริญสมาธิ   การเจริญสมาธิ  จิตจะประณีตขึ้นตามลำดับ   เป็นขั้น ๆ  ภาวะจิตจะสงบเป็นสมาธิถึงขั้นอัปปณา  เป็นสมาธิที่เกิดจากองค์ฌาน  หรืออาจกล่าวได้ว่า  ผลจากการเจริญสมาธิจะทำให้ได้ฌานสมาบัติ   ฌานสมาบัติแม้เป็นสภาวะแห่งจิตที่ลึกซึ้ง   แต่ก็ยังเป็นเพียงระดับโลกีย์เท่านั้น   ไม่ใช่จุดหมายที่แท้จริงของพุทธปรัชญา   ในภาวะแห่งฌานที่เป็นผลของสมาธินั้นกิเลสต่าง ๆ จะสงบระงับไปชั่วคราว   ไม่ยั่งยืนแน่นอน  คือกิเลสระงับไปเพราะถูกกำลังสมาธิข่มไว้   เหมือนหินทับหญ้า  ยกหินออกเมื่อใดหญ้าก็กลับงอกขึ้นได้อีกอย่างไรก็ตาม   แม้ฌานจะไม่ใช่จุดหมายของพุทธปรัชญาก็ตาม  แต่สามารถนำเอาฌานที่ได้ใช้เป็นบาทเจริญวิปัสสนาต่อ  เพราะจิตที่เป็นสมาธิเป็นจิตที่ควรแก่การงาน   พร้อมที่จะถูกพัฒนาให้สูงขึ้น  ๆ  จนถึงบรรลุธรรมขั้นสูงสุด.

          จุดประสงค์ของการฝึกสมาธิก็เพื่อการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน  เพื่อได้ญาณทัศนะเพื่อมีติสัมปชัญญะ  และเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย  สมดังพุทธพจน์ว่า ภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา   (การเจริญสมาธิ)   มี ๔  อย่าง   คือสมาธิภาวนา   ที่เจริญแล้ว  ทำให้มากแล้ว   ย่อมเป็นไปเพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหาร  สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว   ทำให้มากแล้ว   ย่อมเป็นไปเพื่อการได้ฌานทัศนะ  สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว   ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว   ทำให้มากแล้ว   ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่ง อาสวะทั้งหลาย
          จากพุทธพจน์   แสดงให้เห็นว่า   สมาธิที่เจริญดีแล้ว   ย่อมได้ประโยชน์  ๔ ประการ  คือสามารถดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความสุขในปัจจุบัน,  มีญาณทัสสนะที่ถูกต้อง,  มีสติสัมปชัญญะ  และที่สำคัญคือไม่มีกิเลสอันได้แก่  อวิชชา  ตัณหา   อุปาทาน   มารบกวน นับได้ว่าเป็นจุดหมายปลายทางของพุทธปรัชญา
สมาธิ  ในพุทธปรัชญา  หมายถึง  ภาวะที่จิตแน่วแน่   มั่นคง  หรือ ภาวะที่จิต  ตั้งมั่น  และยังมีความกว้างไปถึงการกำหนดพิจารณาไตรลักษณ์ด้วย ได้แก่  สมาธิที่เป็นตัววิปัสสนาที่พิจารณาเห็นสภาพตามความเป็นจริงตามลักษณะทั้งสามนั้น  และเป็นข้อที่ให้สำเร็จความหลุดพ้น สมาธิที่เป็นตัววิปัสสนานี้  ได้แก่  สุญญตสมาธิ,  อนิมิตตสมาธิ  และ อัปปณิหิตสมาธิ  




อ้างอิง
https://www.gotoknow.org/posts/215524



วิธีทำสมาธิอย่างง่าย

การทำสมาธิ เพื่อให้จิตสงบ มีพลังมีประโยชน์ในปัจจุบัน คือทำให้ใจสบาย คลายทุกข์ หนักแน่นมั่นคง อารมณ์แจ่มใส ความจำทำงานมีประสิทธิภาพ สุขภาพดี นอนหลับสบาย เรียนหนังสือเก่ง ที่สำคัญคือได้บุญ ในยุคที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ การแข่งขัน และความวุ่นวายมากมาย ทำให้ใครหลายคนหันหน้าเข้าหาธรรมะ และเลือกพักผ่อนจิตใจตัวเองด้วยการนั่งสมาธิ ซึ่งเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ใครก็สามารถทำได้ ทำให้ทุกวันนี้ไม่เพียงคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ หรือปู่ย่าตายาย เท่านั้น แต่หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ก็หันมาฝึกนั่งสมาธิกันมากขึ้นด้วย
          สำหรับใครที่ยังไม่เคยและอยากลองสัมผัสความสุขเล็ก ๆ และประโยชน์ดี ๆ จากการนั่งสมาธิ วันนี้มีเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะทำให้การฝึกนั่งสมาธิเป็นเรื่องง่าย

๑. จัดท่าทางให้ถูกต้อง
          จริงอยู่ว่าใคร ๆ ก็นั่งขัดสมาธิ เพื่อนั่งสมาธิได้ แต่การนั่งที่ถูกต้อง คือ คุณต้องแน่ใจว่าคุณนั่งตัวตรง หัวตรง นั่นเพราะร่างกายของเราสัมพันธ์กับจิตใจค่ะ หากคุณนั่งตัวงอแล้วละก็ จิตใจของคุณก็จะล่องลอยไป ไม่อยู่กับเนื้อกับตัวนะคะ แต่ไม่ต้องนั่งเกร็งมาก ให้นั่งเหมือนเรากำลังผ่อนคลายดีที่สุด

 ๒. เปิดตานั่งสมาธิ
          บางครั้งการนั่งสมาธิ ไม่จำเป็นต้องหลับตาเสมอไป คุณสามารถเปิดตาไว้ แต่ปรับระดับสายตาให้มองต่ำลง โดยกำหนดจุดให้เพ่งรวบรวมสมาธิไว้ เพราะบางคนเมื่อปิดตาแล้วกลับรู้สึกฟุ้งซ่าน ในหัวสมองเต็มไปด้วยเรื่องราวต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าวิธีใดทำแล้วได้ผลมากกว่ากัน

 ๓. กำหนดรู้ลมหายใจ
          การกำหนดลมหายใจเข้า-ออก เป็นการกำหนดที่ตั้งของสติ เพื่อให้จิตเราอยู่กับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่น ๆ แต่เราไม่จำเป็นต้องไปบังคับการหายใจ แค่ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ

 ๔. นับลมหายใจเข้า-ออก
          การนับลมหายใจเข้าออก เป็นวิธีปฏิบัติสมาธิมาตั้งแต่โบราณ โดยเมื่อคุณหายใจออกก็ให้คุณเริ่มนับหนึ่งในใจ ต่อไปก็เป็นสองสามสี่ตามลำดับ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณรู้สึกว่าความคิดของคุณกำลังล่องลอยออกไปที่อื่น ให้คุณกลับมาตั้งต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง เพื่อให้คุณนำจิตกลับมาที่เดิม

 ๕. ควบคุมความคิดไม่ให้เข้ามารบกวน
          เมื่อคุณรู้สึกว่าคุณกำลังมีความ คิดเข้ามารบกวนจิตใจ ค่อย ๆ ขจัดความคิดเหล่านี้ออกไป โดยหันมาสนใจกับการกำหนดลมหายใจ อย่าพยายามหยุดความคิดในทันที เพราะมันจะทำให้คุณฟุ้งซ่านและไม่สามารถกลับเข้าสู่สมาธิได้อีก

 ๖. กำจัดอารมณ์ให้หมดสิ้น
          มันเป็นการยากที่จะนั่งสมาธิในขณะที่จิตของคุณเต็มไปด้วยอารมณ์ เพราะอารมณ์จะทำให้เกิดเรื่องราวต่าง ๆ ในจิตใจ โดยเฉพาะอารมณ์โกรธ กลัว เสียใจ ซึ่งไม่ได้ทำให้คุณอยู่กับปัจจุบัน หรืออยู่กับสิ่งที่เป็นในตอนนี้เลย ให้คุณจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นนี้โดยกำหนดลมหายใจไปที่ความรู้สึกของร่างกายที่ควบคุมอารมณ์ส่วนนั้น เพราะจะทำให้คุณไม่คิดถึงเรื่องราวที่ทำให้คุณกลัว หรือโกรธอีก แต่หันมาเพ่งกับสิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้แทน

 ๗. ความเงียบบ่อเกิดแห่งความสงบ
          การนั่งสมาธิควรจะนั่งในที่เงียบ ๆ เพื่อทำจิตให้ว่าง ไม่ใส่ใจถึงบุคคล เสียง หรือสิ่งอื่นที่อยู่โดยรอบ เพราะความเงียบจะนำมาซึ่งความสงบเยือกเย็น และความรู้สึกมั่นคง เมื่อไหร่ก็ตามที่ความเงียบภายนอกและภายในประสานกันได้ คุณก็จะรู้สึกได้พักกายพักใจ ผ่อนคลายจากความคิดที่รบกวนคุณอยู่ตลอดมา

 ๘. เวลาในการนั่งสมาธิ
          เมื่อเริ่มต้นนั่งสมาธิใหม่ ๆ คุณอาจจะลองนั่งก่อนประมาณสัก 10 นาที และจึงค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนรู้สึกว่าจิตคุณเริ่มนิ่งมากขึ้น แต่อย่าบังคับตัวเองให้นั่งนานเกินไปหากคุณยังไม่พร้อม ทั้งนี้ ระยะเวลาที่เหมาะ คือประมาณ 25 นาที เพราะเป็นระยะเวลาที่ไม่ทำให้รู้สึกปวดเมื่อยร่างกายเกินไปจนรบกวนสมาธิได้ 

 ๙. สถานที่ในการนั่งสมาธิ
          สถานที่และบรรยากาศก็ช่วยให้คุณทำสมาธิได้ดีขึ้น ซึ่งการนั่งสมาธิในห้องพระจะช่วยให้จิตใจสงบและรู้สึกเป็นสมาธิมาก หรือคุณอาจจะวางสิ่งเล็ก ๆ ที่คุณชอบ หรือช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายไว้รอบ ๆ ที่คุณนั่งสมาธิก็ได้

 ๑๐. มีความสุขไปกับการนั่งสมาธิ
          คนเราหากทำอะไรแล้วมีความสุข เราก็จะทำมันได้ดี และรู้สึกอยากทำต่อไป ในการนั่งสมาธิก็เช่นกัน หากคุณมีความสุขในการนั่งสมาธิ คุณก็จะรู้สึกผ่อนคลายสบายตัว และอยากจะทำต่อไป จนสามารถทำเป็นกิจวัตรที่ทำทุกวันได้



          รับรองว่าหาก ได้ลองฝึกนั่งสมาธิเป็นประจำสม่ำเสมอ ก็จะรู้สึกได้ถึงจิตใจที่สดชื่น เบิกบาน และมีสติในการทำสิ่งต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย 

วิธีนั่งสมาธิ 

ให้นั่งขัดสมาธิ คือขาขวาทับขาซ้าย นั่งตัวตรงหลับตาเอาสติมาจับอยู่ที่สะดือ ที่ท้องพองยุบ เวลาหายใจเข้าท้องพอง กำหนดว่าพองหนอ ใจนึกกับท้องที่พอง ต้องให้ทันกัน อย่าให้ก่อนหรือหลังกัน หายใจออกท้องยุบ กำหนดว่า ยุบหนอ ใจนึกกับท้องที่ยุบ ต้องทันกัน อย่าให้ก่อนหรือหลังกัน ข้อสำคัญให้สติจับอยู่ที่พอง ยุบ เท่านั้น อย่าดูลมที่จมูก อย่าตะเบ็งท้อง ให้มีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่า ท้องพองไปข้างหน้า ท้องยุบมาข้างหลัง อย่าให้เห็นเป็นไปว่า ท้องพองขึ้นข้างบน ท้องยุบลงข้างล่าง ให้กำหนดเช่นนี้ตลอดไป จนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนด 


อ้างอิง
http://health.kapook.com/view26826.html

มรรคมีองค์ ๘

มรรค  คือหนทางถึงความดับทุกข์ เป็นส่วนหนึ่งของอริยสัจ (เรียกว่า มัคคสัจจ์ หรือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ)  เป็นหนทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง  เป็นไปเพื่อกำจัดกิเลส เป็นหนทางที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ หมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย   อริยมรรค หนทางของผู้ไกลจากกิเลส , หนทางอย่างประเสริฐ  หมายถึง  มรรค มีองค์  ๘    อันเป็นหนทางอย่างประเสริฐ        เพราะทำให้ผู้อบรมบรรลุถึงความเป็นพระอริยเจ้า  พ้นจากความเป็นปุถุชน     และพ้นจากการเกิดในอบายภูมิโดยเด็ดขาด

ซึ่ง ประกอบด้วย อริยมรรค 8 ประการดังนี้ 


๑. สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นที่ถูกต้อง , ความเห็นชอบ  ได้แก่   ปัญญาเจตสิก  ซึ่งมีลักษณะ ที่รู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง สัมมาทิฎฐิมีหลายระดับ ตั้งแต่กัมมสกตาสัมมาทิฏฐิ ( ความเห็นถูกเรื่องความมีกรรมเป็นของๆ ตน )      ฌานสัมมาทิฏฐิ   ( ความเห็นถูก ที่เกิดกับฌานจิต )  วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ  ( ความเห็นถูกที่เกิดกับวิปัสสนา    ซึ่งขณะ ที่เป็นสติปัฏฐานก็เป็นมรรคมีองค์  ๕      แต่ขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้นประหาณกิเลสเป็นสมุจเฉทก็เป็นมรรคมีองค์  ๘   เป็นต้น 

๒. สัมมาสังกัปปะ    ความดำริชอบ  หมายถึง   วิตกเจตสิกที่ตรึกที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ     เพื่อสติจะได้ระลึก     ปัญญาจะได้ศึกษา ในลักษณะของนามรูป  สัมมาสังกัปปะมีอาการ  สามอย่าง  คือ ...
          ๑. ดำริในการออกจากกาม

          ๒. ดำริในการไม่พยาบาท

          ๓. ดำริในการไม่เบียดเบียน 


๓. สัมมมาวาจา คือ เจรจาที่ถูกต้อง หมายถึง การพูดที่ต้องละเว้นจากการวจีทุจริต ๔ อย่างคือ
         ๑. เว้นจากการพูดปด
         ๒. เว้นจากการพูดส่อเสียด
        ๓. เว้นจากการคำหยาบ
        ๔เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

๔. สัมมากัมมันตะ คือ การปฏิบัติที่ถูกต้อง หมายถึง การกระทำที่ต้องละเว้นจากที่ทำกิจให้เกิดการงดเว้นจากกายทุจริต ๓  อย่าง  คือ  
        ๑. งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
        ๒. งดเว้นจากการลักทรัพย์
        ๓. งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม 
    

๕. สัมมาอาชีวะ คือ การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง หมายถึง การทำมาหากินอย่างซื่อสัตย์ สุจริต ไม่มีการทุจริต ที่ทำกิจให้เกิดการงดเว้นจากมิจฉาชีพซึ่งเป็นไปทางกายหรือวาจาที่ทุจริต

๖. สัมมาวายามะ คือ ความเพียรที่ถูกต้อง หมายถึง ความอุตสาหะหรือความพยายามที่ อยู่ในวิถีทางที่ดี ที่เกิดกับกุศลจิตที่เป็นไปพร้อมกับสติปัฏฐาน และวิปัสสนาญาณ  เป็นความเพียรที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง


๗. สัมมาสติ คือ การมีสติที่ถูกต้อง หมายถึง การระลึกรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา โดยกำจัด  ความฟุ้งซ่าน การระลึกชอบ    หมายถึง   สติเจตสิกที่ระลึกที่ลักษณะของนามธรรม หรือรูปธรรม  จนปัญญามีกำลังประจักษ์แจ้งสภาพธรรมไปตามลำดับ และเมื่อมัคคจิต เกิดขึ้น  สัมมาสติก็ระลึกที่ลักษณะของนิพพาน

๘. สัมมาสมาธิ คือ การมีสมาธิที่ถูกต้อง หมายถึง การฝึกกายและอารมณ์ให้สงบ หมายถึง เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตในขณะที่สติปัฏฐานและวิปัสสนาญาณเกิดสัมมาสมาธิทำจิตและเจตสิกอื่นให้ตั้งมั่นในอารมณ์คือนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏเพื่อที่ปัญญาจะได้รู้ชัดลักษณะของนามรูปนั้นๆและ เมื่อมัคคจิตเกิดขึ้นสัมมาสมาธิก็ทำให้จิต และเจตสิกอื่นตั้งมั่น ในอารมณ์คือนิพพาน




          การที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นนั้น   ต้องดำเนินตามหนทางที่ถูกต้อง คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น    ซึ่งก็ต้องเริ่มตั้งแต่ในขั้นของการอบรมด้วยการ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับในขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นมรรคมีองค์ ๕  กล่าวคือ  สัมมาทิฏฐิ   สัมมาสังกัปปะ  สัมมาวายามะ  สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ เกิดขึ้นพร้อมกันและถ้ามีวิรตีเจตสิกหนึ่งเจตสิกใดเกิดด้วย ก็เป็นมรรคมีองค์ ๖ เป็นการอบรมมรรคอันเป็นโลกิยมรรค  ยังไม่ถึงขั้นที่เป็นโลกุตตระ    เพราะมรรคทั้ง ๘ องค์จะประชุมพร้อมกันในขณะที่มรรคจิต ผลจิตเกิดขึ้นเท่านั้น   ซึ่งถ้าไม่เดินทางตามที่ถูกต้องแล้ว ก็ย่อมไม่มีวันถึงขณะที่มรรคจิตและผลจิต จะเกิดได้เลย  แต่อย่างไรก็ดี สำหรับ อริยมรรค มีองค์ 8 นั้นเป็เรื่องที่ยาก และ ไกลมาก สำคัญที่การอบรมเหตุ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง เพื่อเป็นเหตุให้เกิดปัญญา  ปัญญานั้นเอง  จะปรุงแต่ง และ ปฏิบัติหน้าที่   ให้กุศลธรรมประการอื่นๆ เจริญขึ้น และ ทำให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ในที่สุด   อันมีปัญญาเป็นหัวหน้า นำทางไปสู่หนทางที่ดับกิเลส


อ้างอิง
http://www.dhammahome.com/webboard/topic/23275

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อริยสัจ ๔

อริยสัจ แปลว่า  “ความจริงอันประเสริฐ  หรือความจริงของพระอริยบุคคล”  หมายความว่า ถ้าผู้ใดสามารถรู้ อริยสัจ ๔ ด้วยปัญญา  ผู้นั้นก็จะเป็นพระอริยบุคคลและที่ทำให้เป็นผู้ประเสริฐนั้นก็เพราะในขณะที่รู้ อริยสัจ ๔  กิเลสทั้งหลายก็ถูกทำลายหายไปจากจิตของผู้นั้นด้วย คือ จิตจะมีสภาพใสสะอาด บริสุทธิ์ พ้นจากสภาพสามัญชนกลายเป็นพระอริยบุคคล  หรือเป็นบุคคลที่ประเสริฐอริยสัจดังกล่าวนี้  เจ้าชายสิทธัตถะทรงเป็นผู้ค้นพบหรือได้ตรัสรู้เป็นบุคคลแรกในโลกจึงทำให้พระองค์กลายเป็นพระพุทธเจ้า  หรือเป็นบุคคลผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
             อริยสัจ ๔  จัดเป็นหมวดธรรมที่สำคัญมากของพระพุทธศาสนา  เพราะเป็นที่สรุปรวมของพระธรรมคำสั่งสอนทั้งหมด  หมายความว่า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ในพระไตรปิฎกทั้ง ๓ คือ พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎกนั้น  ก็จะสรุปรวมลงในอริยสัจ ๔ ทั้งสิ้น

            ความหมายของอริยสัจ ๔ แต่ละข้อ เพื่อจำง่ายจึงสุรปได้ดังนี้   


๑. ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาพที่บีบคั้น ได้แก่    ชาติ (การเกิด)    ชรา (การแก่ การเก่า) มรณะ (การตาย การสลายไป การสูญสิ้น) ทุกข์ คือ สิ่งที่เบียดเบียนบีบคั้นทำให้เกิดความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ อันเกิดจากร่างกายหรือจิตใจ ถูกเบียดเบียนแล้ว  ทนได้ยาก  หรือทนไม่ได้ จึงทำให้เกิดเป็นทุกข์ ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ปวดหัว ปวดฟัน ปวดท้องอย่างรุนแรงจนทนไม่ได้ ทนไม่ไหว จึงเกิดเป็นทุกข์ทางกาย
                  ในบางครั้ง เมื่อเกิดอารมณ์เศร้า หดหู่ หรือเกิดอาการกระวนกระวายใจ  เพราะถูกด่าบ้าง เพราะผิดหวังที่ทำอะไรไม่ได้ตามใจบ้าง  จึงเกิดเป็นทุกข์ทางใจ ความทุกข์ทางกายและความทุกข์ทางใจทั้ง ๒ ประการนี้  จัดเป็นความทุกข์ขั้นพื้นฐานที่เกิดขึ้นประจำวัน  ซึ่งทุกคนต่างก็รู้จักดีและเคยประสบกันมาแล้ว  แต่ความทุกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบในทุกข์อริยสัจนั้น  ยังมีความหมายกว้าง ครอบคลุมไปถึงลักษณะไม่คงที่  มีความแปรปรวนในสิ่งที่ทั้งปวงด้วย  ซึ่งท่านได้แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้ คือ
                  ๑.  สภาวทุกข์  คือ ทุกข์ประจำสภาวะ หมายถึง ความทุกข์ที่มีประจำอยู่ในสภาพร่างกายของคนเรา เริ่มตั้งแต่เกิดมามีชีวิต จนถึงตาย ซึ่งมีอยู่ ๓ อย่าง ดังนี้ คือ
                        ๑.๑  ชาติทุกข์ แปลว่า “ความเกิดเป็นทุกข์”  
                        ๑.๒  ชราทุกข์  แปลว่า  “ความแก่ชราเป็นทุกข์” 
                        ๑.๓  มรณทุกข์  แปลว่า  “ทุกข์คือความตาย” 
                  ๒.  ปกิณณกทุกข์  แปลว่า  “ทุกข์เล็กๆ น้อยๆ”  หมายถึง  ความทุกข์ที่จรมาจากที่อื่นโดยเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ตามเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมของชีวิต  มีน้อยบ้างมากบ้าง

๒. ทุกขสมุทัย คือ “เหตุให้ทุกข์เกิด”  หมายความว่า  ความทุกข์ทั้งหมดในอริยสัจข้อที่  ๑  เหล่านั้นมิได้เกิดขึ้นมาลอยๆ  จะต้องมีสาเหตุบางอย่างที่ทำให้ทุกข์เกิดขึ้น  พระพุทธองค์นอกจากจะทรงรู้จักตัวความทุกข์อย่างแจ่มแจ้งแล้ว  ยังทรงรู้สึกถึงสาเหตุอันแท้จริงที่ทำให้เกิดความทุกข์นั้นด้วยโดยพระพุทธองค์ทรงชี้ว่า ตัณหา คือความอยากเกินพอดีที่มีอยู่ในจิตใจนั่นเอง  เป็นตัวเหตุให้เกิดความทุกข์ ตัณหา นั้นมีอยู่ ๓ ประการ คือ
                  ๑.  กามตัณหา  คือ ความอยากได้อย่างโน้นอย่างนี้ ซึ่งเกิดจากตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เช่น ตาเห็นรูปสวยงาม ก็เกิดความอยากได้  อยากได้บ้านสวยๆ ราคาแพง อยากได้เสื้อผ้าสวยๆ อยากได้รถยนต์คันงาม เป็นต้น ความอยากทำนองนี้เป็นความอยากในสิ่งที่รักใคร่  และน่าพอใจ เป็นความอยากที่ไม่รู้จบ  เมื่อไม่ได้ตามความประสงค์ก็จะเกิดทุกข์
                  ๒.  ภวตัณหา  คือ  ความยากเป็นอย่างโน้นอย่างนี้  เป็นความอยากได้ในตำแหน่งฐานะที่สูงขึ้นตามที่ตนรักใคร่และพอใจ เช่น อยากเป็นข้าราชการในตำแหน่งสูงๆ  อยากเป็นมหาเศรษฐีและอยากเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นต้น  เมื่อไม่ได้ดังใจปรารถนาก็เป็นทุกข์
                  ๓.  วิภวตัณหา  คือ ความอยากไม่เป็นความอยากไม่มี  จัดเป็นความอยากที่ประกอบกับความเบื่อหน่ายในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  โดยต้องการจะหลีกหนีให้พ้นจากสภาพนั้นไป เช่น อยากไม่เป็นคนโง่ อยากไม่เป็นคนพิการ และอยากไม่เป็นคนยากจน เป็นต้น  ซึ่งความอยากไม่เป็นนี้  ถ้าไม่เป็นไปตามที่ตนต้องการแล้วก็จะทำให้เกิดทุกข์ เช่นเดียวกัน
                  ตัณหา คือ ความอยากทั้ง ๓ ประการนี้ ถ้าอยากจนเกินพอดี คือ ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้ ควรหรือไม่ควร เป็นต้น ย่อมทำให้เกิดเป็นทุกข์ทั้งสิ้น


๓. ทุกขนิโรธ คือ ความดับทุกข์  หมายถึง ความรู้หรือปัญญาที่ทำให้จิตใจของบุคคลสามารถละตัณหาได้  หรือสามารถทำลายตัณหาให้หมดไปจากจิตใจและจิตที่บรรลุนิโรธแล้ว  จะมีลักษณะสงัดจากกิเลส ไม่ยึดมั่นในตัวตน  รวมไปถึงไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงอีกด้วย  คงเหลือแต่ธรรมชาติของความสงบสุขอย่างยิ่ง  ซึ่งทางพระพุทธศาสนาเรียกสภาวะอย่างนี้ว่า  “นิพพาน”

๔. มรรค แนวปฏิบัติที่นำไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์ หมายถึง  อริยมรรค  หรือทางอันประเสริฐซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ ประการคือ
     ๑.  ความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ)  หมายถึง  การรู้เห็นในอริยสัจ ๔  อย่างถูกต้อง  
     ๒.  ความดำริชอบ  (สัมมาสังกัปปะ)  หมายถึง ความคิดชอบ
     ๓.  การพูดชอบ  (สัมมาวาจา)  หมายถึง เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด
     ๔.  การกระทำชอบ  (สัมมกัมมันตะ)  หมายถึง  เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ 
     ๕.  การเลี้ยงชีวิตชอบ  (สัมมาอาชีวะ)  หมายถึง  มีความเพียรระวังไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรม
     ๖.  ควรเพียรชอบ  (สัมมาวายามะ)  หมายถึง  มีความเพียรระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นในตน 
     ๗.  ความระลึกชอบ  (สัมมาสติ)  หมายถึง ความมีสติระลึกถึงความเป็นไปได้ของสภาพร่างกาย 
     ๘.  การตั้งจิตให้ชอบ  (สัมมาสมาธิ)  หมายถึง การทำจิตให้เป็นสมาธิ  ตั้งแต่การทำจิตให้สงบ







อ้างอิง
http://chanwit36.blogspot.com/2010/11/4.html



ขันธ์ ๕

 ขันธ์ ๕ หรือเบญจขันธ์  องค์ประกอบสำคัญทั้ง ๕ ที่ทางพุทธศาสน์ถือว่า เป็นเหตุ คือสิ่งทั้ง ๕ ที่มาเป็นปัจจัยปรุงแต่งเป็น ชีวิต ขึ้น, เป็นเหตุปัจจัยที่เมื่อประชุมปรุงแต่งกันขึ้นจนเป็นสังขารคือสิ่งปรุงแต่ง ที่เรียกกันโดยสมมติในภาษาไทยว่า ชีวิต, ชีวิตจึงประกอบด้วยขันธ์ที่หมายถึงฝ่ายหรือกองต่างๆ ดังนี้  รูปขันธ์, เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, วิญญาณขันธ์  
ชีวิตเกิดขึ้นจากเหตุคือขันธ์ทั้ง ๕ มาเป็นปัจจัยกัน ในชั่วขณะระยะเวลาหนึ่งๆ นั่นเอง ชีวิตนี้  เมื่อมีเหตุปัจจัยประชุมปรุงแต่งกันขึ้นแล้วนั้น  ย่อมหมายถึงต้องมีการประสานทำงานที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน หรือการเป็นปัจจัยแก่กันและกันระหว่างขันธ์หรือระหว่างกองทั้ง ๕ อยู่ตลอดเวลา ตราบเท่าที่ยังดำรงขันธ์คือชีวิตอยู่    ซึ่งพระองค์ท่านแบ่งขันธ์หรือชีวิตออกเป็นส่วนหรือเป็นกองทั้ง ๕ ที่มาประกอบกันเป็นเหตุปัจจัยกันจนเป็นชีวิตหรือสังขารตัวตนที่ประกอบด้วยจิตวิญญาณ  ก็ล้วนเพื่อยังประโยชน์ในการวิปัสสนาเพื่อให้เกิดปัญญาจากการไปรู้เห็นตามความเป็นจริงที่เป็นไปของชีวิต  เพื่อให้เกิดนิพพิทาญาณอันเป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด(ตัณหา) จึงคลายความยึดมั่น(อุปาทาน) เพื่อความปล่อยวาง อันเป็นสุข สะอาด สงบ บริสุทธิ์ยิ่ง

๑. รูปขันธ์ หรือรูป หมายถึง กองหรือส่วนของรูปร่างหน้าตา หรือร่างกาย หรือฝ่ายตัวตน  ให้นึกภาพของคนที่เพิ่งตายใหม่ๆที่มีร่างกายสมบูรณ์อยู่ยังไม่แตกสลาย นั่นแหละส่วนหรือกองของรูปหรือรูปขันธ์แท้ๆล้วนๆ เมื่อยังไม่อิงเหตุปัจจัยประชุมร่วมกับขันธ์อื่นๆทั้ง ๔  ขันธ์ก็จะมีสภาพเป็นเพียงกลุ่มก้อนมายาของเหตุปัจจัยของธาตุทั้ง ๔ 
ซึ่งเป็นเพียง"สรีระยนต์" ที่นอนเป็นท่อนเป็นก้อนเฉยอยู่นั่นเอง,  อายตนะภายในทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือทวาร ๖ อัน คือประตูหรือช่องทางที่ใช้ติดต่อกับโลกภายนอกทั้ง ๖  ต่างก็ล้วนต้องแฝงอาศัยอยู่หรือเป็นส่วนหนึ่งของกองรูปขันธ์นี้นี่เอง (สมองก็เป็นส่วนหนึ่งของรูปขันธ์นั้น แต่ก็เป็นหทัยวัตถุ คือเป็นส่วนหนึ่งของใจหรือจิต คือเป็นวัตถุหรือเหตุปัจจัยอันหนึ่งของจิต แต่ก็ยังไม่ใช่จิต เพราะยังต้องประกอบด้วยเหตุอื่นๆ มาเป็นปัจจัยกันอีกด้วยนั่นเอง)
พึงระวังสับสน ที่ในภายหน้าบางครั้ง เมื่อกล่าวถึงการทำงานประสานกันของขันธ์หรือก็คือกระบวนธรรมของขันธ์ ๕ แล้ว มีคำว่า รูป  ที่อาจหมายถึง สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จิตใช้เป็นอารมณ์คือเป็นที่กำหนดในขณะนั้น จึงอาจหมายถึงใน รูป  รส  กลิ่น  เสียง  โผฏฐัพพะ  ธรรมารมณ์ ทั้ง ๖  ใดๆก็ได้(คือสิ่งที่ถูกรู้หรือสัมผัสได้โดยอายตนะภายใน)  จึงครอบคลุมได้ถึง รูปหรือภาพที่เห็นด้วยจักษุ  หรืออาจหมายถึงเสียงที่ได้ยินนั้น  หรือกลิ่นที่ได้ดมนั้น  หรือรสที่ได้ลิ้มสัมผัสนั้นๆ ฯ. ได้เช่นกัน

๒. เวทนาขันธ์ การเสวยอารมณ์, ความรู้สึก, ความรู้สึกที่เกิดจากการรับรู้ในรสของอารมณ์ คือความรู้สึกรับรู้ที่ย่อมเกิดขึ้นจากสิ่งที่จิตกำหนดหมาย หรือยึด หรือกระทบนั้นๆ  จึงหมายถึง กองหรือหมวดหมู่ของชีวิตที่ทำหน้าที่ เสพเสวยในรสชาดของสิ่งต่างๆที่เป็นอารมณ์ กล่าวคือ ความรู้สึกที่ย่อมต้องเกิดขึ้น จากการเสพเสวยหรือรับรู้ในสิ่ง(อารมณ์)ต่างๆที่กระทบสัมผัส(ผัสสะ)  พระองค์ท่านแบ่งความรู้สึก องเวทนา ออกเป็น ๓ อันมี
       ๑.สุขเวทนา  ความรู้สึก สุขสบาย  ถูกใจ  สบายใจ  ชอบใจ จึงครอบคลุมทั้งฝ่ายกายและจิต  หรือที่เรียกความรู้สึกชนิดนี้กันโดยทั่วไปว่า สุข นั่นเอง
       ๒.ทุกขเวทนา  ความรู้สึก ลำบาก, ความรู้สึกเจ็บปวด, ความรู้สึกเป็นทุกข์, การเสวยอารมณ์ที่ไม่สบาย  ไม่ถูกใจ  ไม่ชอบใจ  อันครอบคลุมทั้งกายและจิตเช่นกัน  หรือที่เรียกความรู้สึกชนิดนี้กันโดยทั่วไปว่า ทุกข์ นั่นเอง
       ๓.อทุกขมสุขเวทนา  ความรู้สึก ไม่สุขไม่ทุกข์  เรียกกันอีกอย่างว่า อุเบกขาเวทนา  หรือที่เรียกกันง่ายๆว่า เฉยๆ หรือไม่มีอะไร ไม่รู้สึกอะไร นั่นเอง

 ๓. สัญญาขันธ์ หมายถึง ส่วนหรือกองของชีวิตที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ ความจำได้ ความทรงจำ ตลอดจนครอบคลุมถึงการหมายรู้  การกำหนดหมาย ปัญญา การประเมินข้อมูล ฯ. จึงย่อมเกิดจากการสั่งสม จดจำประมวลผลตั้งแต่อดีตหรือแต่อ้อนแต่ออกจวบจนปัจจุบัน  อันย่อมใช้สมองส่วนหนึ่งในการบันทึกเก็บจำ ซึ่งย่อมมีข้อมูลอย่างมากมายมหาศาล จนเกินกว่าที่จำได้ทั้งปวงในขณะจิตหนึ่งๆ  สัญญาหรือฝ่ายความจำได้,หมายรู้จึงต้องทำงานหรือเกิดขึ้นในลักษณะเกิดดับ..เกิดดับๆ...ดังนี้อยู่เสมอๆ กล่าวคือ เกิดคือจำขึ้นมาได้ แล้วก็ดับคือลืมลงไปนั่นเอง เป็นไปดังนี้เสมอๆ  ดังเช่นผู้เขียนเอ่ยคำว่าแม่  ท่านก็เกิดสัญญาจำได้ในแม่ขึ้นมาทันที ตั้งอยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็ดับไป   จึงเกิดแล้วดับ เกิดดับๆๆ..ในลักษณนี้อยู่เสมอๆ,   ดังนั้นสมองอันเป็นส่วนหนึ่งหรืออาศัยอยู่ในรูปขันธ์ จึงถูกจัดเป็นหทัยวัตถุอันเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งของจิต  แต่ก็อย่าเข้าใจผิดไปว่าจิตคือสมอง เพราะจิตก็ไม่ได้เกิดแต่เหตุคือสมองแต่อย่างเดียว  เพราะจิตก็ยังเกิดแต่มีเหตุอื่นๆมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งอีกเช่นกัน


๔. สังขารขันธ์ หมายถึง กองหรือส่วนของผล ที่เกิดขึ้นจากขันธ์ต่างๆมาเป็นเหตุปัจจัยกัน กล่าวคือเกิดผลเป็นการกระทำต่างๆขึ้น กล่าวคือ เป็นสิ่งปรุงแต่งทางใจให้เกิดการกระทำ(กรรม)ทางกาย, วาจา, ใจ  กล่าวคือ เกิดเจตนาที่จะกระทำหรือกรรมทางกาย วาจา ใจต่างๆขึ้นมา เช่นการกระทำทางกายทุกๆอย่างคือกายสังขาร เช่นเดิน นอน กิน นั่ง อุจจาระ ปัสสาวะ ฯ.  ทางวาจาหรือวจีสังขาร เช่นการพูด การคุย การอุทานต่างๆ การด่าทอต่อว่า ฯ.  หรือทางใจที่เรียกกันว่ามโนสังขารบ้าง จิตสังขารบ้าง เช่น ความคิด ความนึกต่างๆนาๆขึ้น  อันล้วนย่อมป็น ผล ที่เกิดขึ้นจากการเป็นเหตุปัจจัยปรุงแต่งกันร่วมกับขันธ์อื่นๆ หรือจากการผัสสะต่างๆขึ้นนั่นเอง,   อนึ่งพึงระวังความสับสนจากความเคยชินในภาษาไทย ที่มักใช้คำว่า สังขารในความหมายว่าสังขารกายหรือร่างกายด้วย


 ๕. วิญญาณขันธ์ ความรู้แจ้งในอารมณ์  พอที่จะกล่าวแสดงในแบบทางโลกให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นได้ว่า หมายถึง กองหรือหมวดหมู่ ของระบบประสาททั้งปวงนั่นเอง กล่าวคือ วิญญาณมีหน้าที่ ในการรับรู้ คือรู้แจ้งในอารมณ์คือ อายตนะภายนอกทั้งหลาย ที่จรหรือเกิดการกระทบนั้น ก็คือเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่ดั่งระบบประสาทในการสื่อสารต่อเหล่าอายตนะภายนอกทั้งหลาย ที่มากระทบ และแม้แต่ถ่ายทอดข้อมูลต่างๆของชีวิตคือระหว่างขันธ์ต่างๆทั้ง ๕ ด้วยกัน กล่าวคือ ขันธ์ต่างๆล้วนมีการเชื่อมสื่อสารประสานสัมพันธ์หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างขันธ์ด้วยกัน และทั้งต่อเหล่าอายตนะภายนอกทั้งหลายที่จรมากระทบด้วย ก็ล้วนต้องอาศัยวิญญาณนี้นี่เองเป็นตัวเชื่อมประสาน
        การรู้แจ้งในอารมณ์ ของวิญญาณนั้น ต้องทำความเข้าใจกันเล็กน้อย  การรู้แจ้งนี้ มิได้หมายถึงความรู้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งทางด้านปัญญาแต่ประการใด   เป็นเพียงแค่การรับรู้ ในภาพ ในเสียง ในกลิ่น ในรส ฯ.(อายตนะภายนอก)ที่มากระทบต่างๆเท่านั้น  ยังไม่ประกอบไปด้วยความรู้,ความเข้าใจต่างๆใดๆที่หมายถึงปัญญาในสิ่งที่ไปกระทบนั้นๆ,   และวิญญาณมักถูกเข้าใจแบบโลกิยะคือแบบโลกๆแต่ฝ่ายเดียว  จึงมักถูกเข้าใจผิดด้วยมายาของจิตมาตั้งแต่เริ่มรู้ความ และด้วยตำนานเล่าขานที่ถ่ายทอดสืบต่อกันอย่างแรงกล้ามาอย่างช้านาน จนเป็นทิฏฐุปาทานและสีลัพพตุปาทานของปุถุชนกล่าวคือ เมื่อกล่าวถึงวิญญาณ  มักจะเข้าใจในวิญญาณโดยนัยไปว่า เป็นดังเจตภูต หรือปฏิสนธิวิญญาณ ที่หมายถึงวิญญาณที่ลอยละล่องท่องเที่ยวหาที่เกิด  หรือหมายถึง วิญญาณที่ท่องเที่ยวไปในภพน้อยใหญ่และปรภพในลักษณะสัมภเวสี หรือโอปปาติกะ หรือกายทิพย์ หรือเทวดา ฯ.


ขันธ์ ๕ นี้ รูปจัดเป็นรูปธรรม เวทนา,สัญญา,สังขาร,วิญญาณจัดเป็นนามธรรม
เมื่อจัดขันธ์เข้าใน ปรมัตธรรม จะได้

·         วิญญาณขันธ์  จัดเข้าในจิต

·         เวทนาขันธ์ ,สัญญาขันธ์ ,สังขารขันธ์ จัดเข้าในเจตสิก

·         รูปขันธ์ จัดเข้าในรูป

·         การหมดเหตุปัจจัยของนามรูป จัดเข้าในนิพพาน




อ้างอิง
http://www.nkgen.com/772.htm

อนุปุพพิกถา

อนุปุพพิกถาปลว่า ถ้อยคำที่กล่าวโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้นขึ้นไป คือ พระธรรมเทศนาที่แสดงความลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ เพื่อฟอกอัธยาศัยของสัตว์ให้หมดจดและประณีตขึ้นไปเป็นชั้นๆ จากง่ายไปหายาก เพื่อเตรียมจิตของผู้ฟังให้พร้อมที่จะรับฟังอริยสัจ ๔ 

อนุปุพพิกถา มี ๕ ประการ คือ 
๑.  ทานกถา ถ้อยคำที่พรรณานาทาน
๒.  สีลกถา ถ้อยคำที่พรรณนาศีล
๓.  สัคคกถา ถ้อยคำที่พรรณนาสวรรค์
๔.  กามาทีนวกถา ถ้อยคำที่พรรณนาอาทีนพคือโทษของกาม
๕.  เนมขัมมานิสังสกถา ถ้อยคำที่พรรณนาอานิสงส์ของเนกขัมมะ คือ การออกจากกาม.

๑. ถ้อยคำที่พรรณนาทานนั้น ทาน แปลว่า ให้  เป็นชื่อของวัตถุแปลว่าวัตถุที่ให้ เป็นชื่อของเจตนาแปลว่าเจตนาเป็นเหตุให้ ทางพระพุทธศาสนาแสดงทานด้วยมุ่งให้บุคคลทำการบริจาค เป็นการสงเคราะห์ อนุเคราะห์ หรือ บูชา เป็นการเผื่อแผ่ความสุขให้แก่ผู้อื่นและด้วยมุ่งกำจัดโลภะคือความโลภ มัจฉริยะคือความตระหนี่ในจิตใจของตนด้วย แต่ว่าทานในพระพุทธศาสนาที่จะมีผลมากนั้นต้องประกอบด้วยวัตถุสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยวัตถุ คือสิ่งที่ให้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์แก่ผู้รับตามสมควร ไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีโทษ เจตนาสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยเจตนา คือมีเจตนาดี ตั้งแต่เมื่อก่อนให้ ในขณะที่ให้ และในภายหลังที่ให้แล้ว กับปฏิคคาหกสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยปฏิคาหกคือผู้รับ หมายถึงว่าผู้รับก็ต้องเป็นผู้สมควร เช่น เป็นผู้ที่ควรอนุเคราะห์ เป็นผู้ที่ควรสงเคราะห์ เป็นผู้ที่ควรบูชาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ทานที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญจึงต้องเป็นทานที่เรียกว่า มีการเลือกให้  ไม่ใช่ให้โดยไม่เลือก คือต้อง เลือกวัตถุ เลือกเจตนา เลือกบุคคลผู้รับ กับต้องดูให้พอเหมาะสม ไม่ทำตนเองให้ต้องลำบากเพราะการให้

๒. ทรงแสดง ศีล ตามศัพท์แปลว่า ปกติ หมายถึง ความปรกติทางกาย ปรกติวาจา ปรกติใจ ไม่ถูกกิเลสดึงไปให้ประพฤติทุจริตต่าง ๆ  ฉะนั้น จึงต้องมี วิรัติเจตนา ความตั้งใจงดเว้นจากความชั่วนั้น ๆ จึงจะเป็นศีล ศีลในพระพุทธศาสนานั้นอย่างต่ำก็คือ ศีล ๕ ไม่แก่ เจตนางดเว้นจากภัยหรือเวร ๕ ประการ ฉะนั้น ศีลจึงเท่ากับเป็นความไม่มีเวร ไม่มีภัย เมื่อรักษาศีล ก็เท่ากับว่า ทำอภัยทาน คือให้อภัยแก่สัตว์ทั้งหลาย และตัวผู้มีศีลเองก็เป็นผู้ไม่ก่อภัย ก่อเวรขึ้นแก่ตัวเองด้วย.

 ๓. ทรงแสดง สวรรค์ คำว่า สวรรค์ ก็ออกมาจากศัพท์บาลีว่า สคฺค แปลว่า ที่เป็นที่ข้องเป็นที่ติด ก็ได้  ที่เป็นที่มีอารมณ์อันเลิศ ก็ได้  ตามที่เข้าใจกัน สวรรค์เป็นโลกอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งบุคคลผู้ทำความดีจะพึงเข้าถึงในเวลาที่สิ้นชีวิตไปจากโลกนี้แล้ว และในคัมภีร์ก็แสดงสวรรค์ไว้มาก เช่น สวรรค์กามาพจร ที่แปลว่า ชั้นที่ยังหยั่งลงในกาม ๖ ชั้น แต่สวรรค์ดั่งกล่าวนี้ เป็นเรื่องที่มีแสดงไว้ในตำราเก่าก่อนพระพุทธศาสนา และมาถึงพระพุทธศาสนาก็ยังมีติดมาในคัมภีร์พระพุทธศาสนา แต่ก็ติดมาไม่หมด คือติดมาบางส่วน ทรงแสดงสวรรค์ ชี้ลงไปกลาง ๆ จะในเวลาไหน คือในบัดนี้ หรือในอนาคต ในโลกนี้ หรือในโลกหน้าก็ตามที เมื่อมีผลเป็นเช่นนี้อยู่ในที่ใด ในที่นั้นก็ชื่อว่าเป็นสวรรค์ เพราะจัดเป็นที่มีอารมณ์อันเลิศ มีอารมณ์ที่งดงาม และในขณะเดียวกันก็เป็นที่ข้องที่ติดเป็นอย่างยิ่งด้วย คือว่าเป็นที่ปรารถนาพอใจอย่างยิ่ง สวรรค์ดังกล่าวมานี้ จำต้องอาศัยทาน อาศัยศีลเห็นตุ พิจารณาดูตามกระแสปัจจุบัน ก็จะเห็นเข้าเรื่องกันได้กับสวรรค์ ๖ ชั้น ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสนั้น คือเมื่อต่างมีทานเฉลี่ยเผื่อแผ่ให้ความสุขแก่กันและกัน และมีศีลไม่เบียดเบียนกันและกัน ให้อภัยกันและกัน ก็จะต่างมีความสุขด้วยกัน เมื่อมีความสุขด้วยกันอยู่ ก็จะมีความเจริญตา เจริญหู เจริญจมูก เจริญลิ้น เจริญกาย เจริญใจ ปราศจากความทุกข์ ที่เกิดจากความคับแค้น และที่เกิดจากการเบียดเบียนกัน ก็เป็นผลที่เรียกได้ว่าสวรรค์อยู่แล้ว

๔.ทรงแสดง กามาทีนพ คือโทษของกาม สวรรค์ได้ชื่อว่าเป็นกาม คือเป็นที่รักใคร่ ที่ปรารถนา ที่พอใจ เป็นอย่างยิ่ง คำว่า กาม นั้น เป็นวัตถุที่เป็นภายนอกดั่งกล่าวนั้นส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นชื่อของกิเลสในใจของบุคคล คือเป็นชื่อของความใคร่ ความปรารถนา ความพอใจ เมื่อมีความใคร่ ความปรารถนา ความพอใจ เป็นกิเลสกามในจิตใจ วัตถุข้างนอกจึงได้พลอยเป็นกามไปด้วย แต่ถ้าจิตใจไม่มีกิเลสกามอยู่ วัตถุข้างภายนอกก็เป็นวัตถุเฉย ๆ ไม่เป็นกามของผู้นั้น เหมือนอย่างบุคคลสามัญซึ่งมีกิเลสกามอยู่ในใจ เมื่อไปในที่ไหน ในที่นั้นก็เป็นกามของเขา เพราะว่าเป็นที่รักใคร่ ปรารถนา พอใจ แต่พระอรหันต์จะไปในที่ไหน ในที่นั้นไม่เป็นกามของท่าน เพราะว่าท่านไม่มีความรักใคร่ปรารถนาพอใจ สิ่งนั้น ๆ ก็คงเป็นวัตถุนั้น ๆ อยู่โดยธรรมชาติเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงกามจึงมีความหมายสอง หมายถึงวัตถุภายนอกก็ได้ หมายถึงกิเลสในใจก็ได้ แต่ว่าโดยปรกติเมื่อกล่าวอย่างสามัญ คำว่ากามเป็นชื่อของวัตถุภายนอก เพราะเป็นที่ใคร่ ที่ปรารถนา ที่พอใจของบุคคลทั่วไป สวรรค์ แม้จะมีอารมณ์อันเลิศสักเท่าไร แต่ก็ยังเป็นกาม คือเป็นที่น่าใคร่น่าปรารถนา น่าพอใจ และเป็นสิ่งที่ต้องมีความแปรปรวน เปลี่ยนแปลงไป มีเกิด มีดับเหมือนอย่างวัตถุทั้งปวงในโลกถึงจะเปลี่ยนแปลงไปช้า ในที่สุดก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้น เมื่อไปมีความรักใคร่ปรารถนา พอใจมาก เมื่อสิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไป ก็ยิ่งทำให้ต้องเป็นทุกข์มาก เพราะฉะนั้น อันนี้จึงชื่อว่า อาทีนพ คือ โทษของกาม

๕. ทรงแสดง เนกขัมมะ คือ การออกจากกาม การออกจากกามนั้น ออกทางกาย ได้แก่ การออกบวชประการหนึ่ง ออกทางใจ ได้แก่ การทำจิตใจให้เป็นสมาธิ จนสงบสงัดจากกาม จากอกุศลกรรมทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เป็นเหตุทำให้จิตใจสงบและมีความสุข ตัดกังวลห่วงใยอันเกี่ยวกับกามด้วยประการทั้งปวง

เมื่อได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาทั้ง ๕ ประการนี้แล้ว ทรงพิจารณาเห็นว่า ผู้ฟังมีจิตแช่มชื่นผ่องใส ปราศจาก นิวรณ์ คือ กิเลสเครื่องกั้นจิต มีจิตบริสุทธิ์ผ่องใส สมควรที่จะรับพระธรรมที่สูงขึ้นไป เหมือนอย่างผ้าที่ซักให้สะอาดปราศจากมลทินต่าง ๆ ควรที่จะรับน้ำย้อมได้แล้ว จึงได้ทรงแสดงอริยสัจ ๔  คือ ทรงชี้ทุกข์ ชี้สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ชี้นิโรธ ความดับทุกข์ ชี้มรรค ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ โดยนัยดั่งในปฐมเทศนานั้น  อริยสัจ ๔ นี้ เรียกว่า สามุกฺกํสิกธมฺมเทสนา คือ เป็นพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นแสดงเอง เพราะได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง โดยปรกติเมื่อได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ แล้ว ผู้ฟังก็เกิดดวงตาเห็นธรรม ที่ท่านแสดงว่าได้เป็นพระโสดาบันในพระพุทธศาสนา.

อนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ นี้ ตามประวัติในพระพุทธศาสนาปรากฏว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแก่มนุษย์ซึ่งเป็นคฤหัสถ์ ไม่ทรงแสดงแก่เทพยดาหรือภิกษุ และผู้ที่จะทรงแสดงนั้น เป็นผู้ที่มีจิตเลื่อมใส เบิกบาน ควรที่จะได้รับผลจากการฟัง ฉะนั้น  จึงปรากฏว่าเมื่อได้ฟังจบลงแล้ว จึงได้รับผลคือได้ดวงตาเห็นธรรม. ดวงตาเห็นธรรมนั้น ตามศัพท์เรียกว่า ธมฺมจกฺขุ ท่านแสดงไว้ตรงกัน คือเห็นว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อเกิดความเห็นขึ้นอย่างนี้ เรียกว่า ได้ดวงตาเห็นธรรม หรือว่าเกิดธรรมจักษุ จะฟังเทศน์กัณฑ์ไหน ๆ ก็ตาม เมื่อเกิดดวงตาเห็นธรรม ก็จะต้องเกิดขึ้นอย่างนี้ พิจารณาดูก็น่าเข้าใจว่า คือ เห็นทุกข์นั้นเอง เห็นเกิดดับเรียกว่าเห็นทุกข์ หรือว่าเห็นทุกข์ คือ เห็นเกิดดับ โดยมาเห็นแต่เกิด อย่างเห็นชีวิตของเราในบัดนี้ เรารู้จักกันแต่เกิด แต่ว่าไม่รู้สึกว่าจะดับ  ดับนั้นเราคิดว่าอยู่ข้างหน้า คือว่ายังไม่มาถึง ในปัจจุบันก็คือเกิดและยังดำรงอยู่ ยังไม่เห็นดับเป็นคู่กันไป แต่ความเห็นที่จะเรียกว่าเห็นธรรมนั้น ต้องเห็นดับคู่ไปกับเกิดพร้อมกัน เมื่อเห็นดับคู่ไปกับเกิดพร้อมกันแล้ว กิเลสก็ไม่มีที่ตั้ง จะตั้งความชอบ ความชัง ไว้ที่ไหน ความชอบ ความชัง ที่เป็นกิเลสนั้นจะตั้งอยู่ได้ ต้องตั้งในสิ่งที่เราเห็นว่า ยังมีอยู่ ยังเป็นอยู่ คือในสิ่งที่ยังเกิดอยู่ แต่ว่าถ้าเห็นว่าดับเสียแล้ว กิเลสก็ไม่มีที่ตั้งชอบก็ไม่มีที่ตั้ง เพราไม่มีอะไรจะตั้ง เพราะเห็นว่าดับเสียแล้ว.




อ้างอิง
http://www.phuttha.com/พระพุทธเจ้า/อนุปุพพิกถา

                                        





อิทธิบาท ๔

     คำว่า อิทธิบาท แปลว่า บาทฐานแห่งความสำเร็จ หมายถึง สิ่งซึ่งมีคุณธรรม เครื่องให้ลุถึงความสำเร็จตามที่ตนประสงค์ ผู้หวังความสำเร็จในสิ่งใด ต้องทำตนให้สมบูรณ์ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท ซึ่งจำแนกไว้เป็น ๔ คือ

๑. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น

๒. วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น

๓. จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น

๔. วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น

ธรรม ๔ อย่างนี้ ย่อมเนื่องกัน แต่ละอย่างๆ มีหน้าที่เฉพาะของตน

ฉันทะ คือความพอใจในฐานะเป็นสิ่งที่ถือว่าดีที่สุด ที่มนุษย์เราควรจะได้  อันดับแรกต้องสำรวจตนเองว่า มีความชอบหรือศรัทธางานด้านใด แล้วมุ่งไปในเส้นทางนั้น อาจเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการตั้งคำถามกับตัวเอง ฉันทำงานเพื่ออะไร ฉันมีความสุขหรือไม่หากงานที่ทำอยู่ไม่ใช่งานที่รักเสียทีเดียว เผื่อเราจะได้มีเวลาค้นหาและปรับเปลี่ยนตัวเอง หรือปรับศรัทธาของตัวเองให้เข้ากับงานที่ทำอยู่ 
       อย่างไรก็ตาม งานแต่ละอย่างนั้น ไม่มีทางที่ใครจะชื่นชอบไปทั้งหมดทุกกระบวนการ ดังนั้น ถ้าคุณพอใจที่จะทำ และมีความสุขกับงาน เชื่อว่างานที่คุณทำอยู่ต้องออกมาดีแน่ ๆ ข้อนี้ เป็นกำลังใจ อันแรก ที่ทำให้เกิด คุณธรรม ในข้อต่อไป

วิริยะ คือความพากเพียร หมายถึง การการะทำที่ติดต่อ ไม่ขาดตอน เป็นระยะยาว จนประสบ ความสำเร็จ คำนี้ มีความหมายของ ความกล้าหาญ เจืออยู่ด้วย งานทุกอย่างจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความขยันหมั่นเพียร ความวิริยะจึงเป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งที่จะนำคุณไปสู่ความสำเร็จได้ ยิ่งคุณขยันเท่าไรผลตอบแทนที่คุณจะได้รับมันก็มีมากเท่านั้น ที่สำคัญความวิริยะจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความรักในงานจากฉันทะนั่นเอง และความวิริยะไม่ใช่การทำงานแบบเอาเป็นเอาตาย แต่เป็นการหมั่นฝึกฝนตนเองต่างหาก
           ทั้งนี้ มีข้อน่าสังเกตสำหรับคนทำงานร่วมกันคือ จะต้องขยันด้วยกันทั้งหัวหน้าและลูกน้อง ยิ่งผู้เป็นหัวหน้ายิ่งสำคัญมาก ถ้าเป็นคนเกียจคร้าน คิดกินแรงอย่างเดียว ลูกน้องก็มักขยันไปได้ไม่กี่น้ำ เดี๋ยวก็รามือกันหมด แต่ถ้าหัวหน้าเอาการเอางาน ก็จะสามารถดึงลูกน้องให้ขยันขันแข็งขึ้นด้วย

จิตตะ หมายถึงความไม่ทอดทิ้ง สิ่งนั้น ไปจากความรู้สึก ของตัว ทำสิ่งซึ่งเป็น วัตถุประสงค์ นั้นให้เด่นชัด อยู่ในใจเสมอ คำนี้ รวมความหมาย ของคำว่า สมาธิ อยู่ด้วยอย่างเต็มที่ จิตใจที่จดจ่อกับงานล้วนเกิดผลดีต่องานที่ทำ จิตตะเป็นธรรมะที่แสดงถึงสติ ความรอบคอบและความรับผิดชอบที่จะตามมา ซึ่งในสังคมการทำงานปัจจุบันนี้ มุ่งเน้นแย่งชิงตำแหน่งกัน และขัดขาจนลืมคิดไปว่า งานที่ตนเองต้องรับผิดชอบนั้นคือสิ่งใดกันแน่ จิตตะจึงมีความสำคัญในการทำงานโดยไม่วอกแวกออกไปนอกลู่นอกทาง ดังนั้น เมื่อคุณมีทั้งฉันทะและวิริยะแล้ว จิตตะจะเป็นเสมือนรั้วของเส้นทางที่ไม่ให้ไขว้เขวออกนอกทางสู่ความสำเร็จได้
           อย่างไรก็ดี ปกติคนที่โตเป็นผู้ใหญ่รู้ผิดชอบ มักจะใส่ใจกับงานอยู่แล้ว เพราะธรรมชาติจะทำให้หยุดคิดยาก แต่เสียอยู่อย่างเดียวคือ ชอบคิดเจ้ากี้เจ้าการแต่เรื่องงานของคนอื่น คอยติ คอยสอดแทรก คอยวิพากษ์วิจารณ์ ในขณะที่ธุระของตัวกลับไม่คิดไม่ดู ซึ่งไม่ส่งผลให้งานของเราดีขึ้น พระพุทธเจ้า จึงทรงสอนให้เป็นนักตรวจตรางาน คือให้มีจิตตะ แล้วก็ทรงให้โอวาทสำทับไว้ด้วยว่า "ควรตรวจตรางานของตัวเอง ทั้งที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำ"

วิมังสา หมายถึงความสอดส่องใน เหตุและผล แห่งความสำเร็จ เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดเวลา คำนี้ รวมความหมาย ของคำว่า ปัญญา ไว้อย่างเต็มที่ สุดยอดของวิธีทำงานให้สำเร็จอยู่ในอิทธิบาทข้อสุดท้ายนี้ หมายถึงว่า ทำงานด้วยปัญญา ด้วยสมองคิด ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ คนเราแม้จะรักงานแค่ไหน บากบั่นเพียงใด หรือเอาใจจดจ่ออยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าขาดการใช้ปัญญาพิจารณางานด้วยแล้ว ผลที่สุดงานก็คั่งค้างและผิดพลาดจนได้

           เราอาจลองทบทวนตัวเองนิ่ง ๆ ว่าวันนี้ทั้งวันเราทำอะไรบ้าง สรุปกับตัวเองว่าทำเพื่ออะไร เราจะได้มีกำลังใจต่อในวันต่อ ๆ ไป และไม่ทำผิดซ้ำซากอีกเช่นเดิม พร้อมกันนั้นเราจะสามารถเห็นหนทางได้ว่า เส้นทางไหนที่จะนำเราสู่ความสำเร็จได้จริง ๆ


           จะเห็นได้ว่า หลักธรรมะที่ใช้ในการทำงาน เป็นเรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัว หากเรานำ อิทธิบาท ๔ มาปรับใช้ในการทำงาน รักงานที่ทำ ขยันทำงาน รับผิดชอบงาน และรู้จักไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน ทางแห่งความสำเร็จคงไม่เกินเอื้อม...ทุกอย่างอยู่ที่ "ใจ"




อ้างอิง
http://www.learntripitaka.com/scruple/Itibaht4.html

 












ธรรมะ คืออะไร

ธรรมะ  หมายถึง ระเบียบกฎเกณฑ์ที่มีอยู่โดยตัวของมันเองในธรรมชาติ พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้ค้นพบ ปฏิบัติตาม เกิดผลที่ต้องการแล้วก็ประกาศให้คนอื่นรู้  เมื่อคนอื่นรู้แล้วปฏิบัติตามก็เกิดผลอย่างเดียวกัน และพระธรรมปิฎก กล่าวถึงความหมายของพระธรรมไว้ว่า พระธรรม คือ ความจริงของสิ่งทั้งหลายหรือธรรมชาติทั้งหมด รวมทั้งโลกและชีวิตของเรา ซึ่งเราจะต้องรู้ เข้าใจ และดำเนินชีวิตให้ประสานสอดคล้องถูกต้องตามนั้น เพื่อจะได้มีชีวิตที่ดีงาม เป็นสุขแท้จริง
         ธรรมะเป็นสิ่งที่มีจริง    พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรม คือ ตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริง ๆ สิ่งที่มีจริง ก่อนการตรัสรู้ ไม่มีใครพบว่าเป็นธรรมะ เพราะเห็นว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรา เป็นเขา เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ   แต่เมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ตรัสรู้ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา หมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่เที่ยง    แต่ลักษณะ ของธรรมนั้น   เป็นสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้   ซึ่งจะต้องค่อย ๆ ไตร่ตรอง ตามลำดับ เช่น ขณะนี้อะไรจริง   กำลังเห็นมีจริง ๆ สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริงๆ เสียงมีจริง ๆ   จิตที่ได้ยิน รู้เสียงนั้นมีจริง ๆ   ความสุขมีจริง   ความทุกข์มี จริง  ลักษณะของแข็งมีจริง สภาพที่กำลังรู้แข็งมีจริง    ทั้งหมดนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ก็จะต้องศึกษาให้ทราบว่า ที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา แต่ถ้าไม่มีตัวธรรมะที่เกิดขึ้นปรากฏ  เราก็ไม่มี    แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้น    เพราะความไม่รู้ก็เลยถือว่าสิ่งที่เกิด นั้นเป็นเรา  หรือว่าเป็นของเรา เช่น รูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า   มีเหตุปัจจัย ปรุงแต่งเกิดขึ้น    แต่เพราะความไม่รู้ก็ยึดถือรูปนั้นว่าเป็นเรา    แม้แต่สภาพ ของจิตใจ  หรือความรู้สึกเป็นสุข  เป็นทุกข์ ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่เมื่อไม่รู้ ก็ยึดถือสภาพธรรมนั้น ๆ ว่าเป็นเรา
          เพราะฉะนั้น  จากการที่เคยเป็นเราทั้งหมด   ความรู้โดยการศึกษาจะทำให้เข้าใจว่า   เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด ซึ่งมีจริง ๆ    ที่มีจริง ๆ เพราะ ว่าเกิดขึ้นปรากฏ   ถ้าไม่เกิดปรากฏ ก็ไม่มีใครสามารถจะไปรู้ ไปเห็น ไปเข้าใจได้    แต่เพราะว่าในขณะนี้เอง สิ่งที่ปรากฏเป็นสิ่งที่มีจริง และเกิดขึ้นแล้วจึงปรากฏและเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป   ตรงกับไตรลักษณะที่ว่า อนิจจัง ทุกขัง  อนัตตา คือ  สภาพธรรมใดที่มีปัจจัยเกิดขึ้น    สภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับไป ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา

ความหมายของธรรมะ  คำว่า ธรรมะ ที่อรรถกถาจารย์ได้ให้ความหมายไว้ เช่น


พระพุทธโฆษาจารย์ได้ให้ความหมายไว้ ๔ ประการคือ


๑. คุณะ ได้แก่ ความประพฤติที่ดีงาม 


๒. เทศนา ได้แก่ คำสั่งสอน คำแนะนำทางศีลทางธรรม 


๓. ปริยัติ ได้แก่ ลักษณะคำสอนของพระพุทธเจ้า ๙ แบบ 


๔. นิสสัตต-นิชชีวะ ได้แก่ กฎแห่งเอกภพที่มิใช่สัตว์ มิใช่บุคคล หรือกฎธรรมชาติ 



ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้จำแนกธรรมไว้ ๔ ประเภทเช่นเดียวกัน คือ 


๑. ธรรมะ คือหน้าที่และการปฏิบัติตามหน้าที่ 


๒. ธรรมะ คือผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามหน้าที่ 


๓. ธรรมะ คือความจริงที่ปรากฏหรือกฎธรรมชาติ 


๔. ธรรมะ คือธรรมชาติทั้งปวง 




           กล่าวโดยสรุป ธรรมะ หมายถึง ระเบียบกฎเกณฑ์ที่มีอยู่โดยตัวของมันเองในธรรมชาติ พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้ค้นพบ ปฏิบัติตาม เกิดผลที่ต้องการแล้วก็ประกาศให้คนอื่นรู้ เมื่อคนอื่นรู้แล้วปฏิบัติตามก็เกิดผลอย่างเดียวกัน และพระธรรมปิฎก กล่าวถึงความหมายของพระธรรมไว้ว่า พระธรรม คือ ความจริงของสิ่งทั้งหลายหรือธรรมชาติทั้งหมด รวมทั้งโลกและชีวิตของเรา ซึ่งเราจะต้องรู้ เข้าใจ และดำเนินชีวิตให้ประสานสอดคล้องถูกต้องตามนั้น เพื่อจะได้มีชีวิตที่ดีงาม เป็นสุขแท้จริง



อ้างอิง

http://mediacenter.mcu.ac.th/data/caipyo/m5/web/hungtoom/p1.php