วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วิปัสสนากรรมฐาน

วิปัสสนากรรมฐาน คือ กรรมฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา, กรรมฐานทำให้เกิดการรู้แจ้งเห็นจริง หมายถึงการปฏิบัติธรรมที่ใช้สติเป็นหลัก วิปัสสนากรรมฐานบำเพ็ญได้ โดยการพิจารณาสภาวธรรมหรือนามรูป คือ ขันธ์ ธาตุ อายตนะอินทรีย์ให้เห็นตามความเป็นจริง คือ เห็นด้วยปัญญาว่าสภาวธรรมเหล่านี้ ตกอยู่ในสามัญลักษณะหรือไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม  เป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

วิปัสสนากรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่มุ่งอบรมปัญญาเป็นหลักคู่กับ สมถกรรมฐาน ซึ่งมุ่งบริหารจิตเป็นหลัก ในคัมภีร์ทางพระศาสนาทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถาทั่ว ๆ ไปมักจัดเอาวิปัสสนาเป็นแค่ สุตมยปัญญาและจินตามยปัญญา เพราะในวิภังคปกรณ์พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างนั้น ทั้งนี้ก็ยังพอจะอนุโลมเอาวิปัสสนาว่าเป็นภาวนามยปัญญา ได้อีกด้วย เพราะในฎีกาหลายที่ท่านก็อนุญาตไว้ให้ ซึ่งท่านคงอนุโลมเอาตามนัยยะพระสูตรอีกทีหนึ่ง และในอรรถกถาปฏิสัมภิทามรรคท่านก็อนุโลมให้เพราะจัดเข้าได้ในภาวนามัยบุญกิริยาวัตถุข้อ ๑๐

จุดมุ่งหมายในการทำวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นการปฏิบัติทางจิต เพื่อให้จิตเกิดการเรียนรู้จดจำสภาวะการดับของขันธ์ ๕ การดับซึ่งรัก โลภ โกรธ หลง ทั้งหลาย ที่เกิดผ่านอายตนะภายในและภายนอกทั้ง ๑๒ คือ ตา(รูป) หู(เสียง) จมูก(กลิ่น) ลิ้น(รส)กาย(สัมผัส) ใจ(ธรรมารมณ์) 

เมื่อผู้ปฏิบัติมีสติรู้เท่าทันจิต ให้เห็นการเกิดดับของจิตในทุกสภาวะธรรมของขันธ์ ๕ ที่เกิดขึ้นได้ นั่นแสดงว่าจิตพร้อมที่จะทำสงครามกับกิเลส ตัณหาแล้ว

ธรรมะที่ใช้ในการทำลายกิเลส ( ดับขันธ์ ๕ )

ไตรลักษณ์ : คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
อริยสัจ ๔ : รู้ทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ รู้วิธีดับทุกข์ รู้มรรคแห่งความพ้นทุกข์ทั้งหลาย
กรรมฐานต่างๆ : มรณานุสสติ พุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ กายคตาสติกรรมฐาน
อสุภกรรมฐาน เป็นต้น
สติปัฏฐาน ๔ : กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม

สภาวะการดับของขันธ์ ๕  
ขันธ์ ๕ ประกอบด้วย ๑. รูป ๒.เวทนา ๓.สัญญา ๔.สังขาร ๕.วิญญาณ

รูปขันธ์ดับ(รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสทางกาย สัมผัสทางใจ) เห็นแล้วสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ฯลฯ
เวทนาขันธ์ดับ       ความรู้สึกทุกข์ สุข หรือไม่ทุกข์ไม่สุข(เฉยๆ) จึงไม่บังเกิดขึ้น
สัญญานขันธ์ดับ    ความจำหมายรู้ในสิ่งที่ปรากฏ พึงไม่บังเกิด
สังขารขันธ์ดับ       ความคิดปรุงแต่งทั้งหลาย พึงไม่บังเกิด
วิญญาณขันธ์ดับ ความรู้ทางอารมณ์ทั้งหลายที่พึงบังเกิดจึงไม่บังเกิด เช่น อารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง เป็นต้น

ขั้นตอนการปฏิบัติ
๑.ต้องมีสติรู้เท่าทันจิต จิตจึงจะสามารถรับรู้ทุกสภาวะธรรมของขันธ์5ที่เกิดขึ้น(เจริญสติ)
๒.ทรงฌานเป็นอารมณ์ ผู้ที่ทรงฌานเป็นอารมณ์เป็นผู้ที่มีสติอยู่ตลอดเวลา เมื่อปฏิบัติถึงจุดหนึ่ง จะเป็นผู้ที่มีสติตามรู้ได้โดยอัตโนมัติ (พระโสดาบันทรงฌานเป็นปกติ) 
๓.เอาจิตเข้าไปจับให้เห็นซึ่งสภาวะธรรมของขันธ์5 ที่เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า (เป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่เจตนาให้เกิด) แล้วให้ใช้ธรรมะเพื่อทำลายกิเลสตามที่กล่าวมาแล้ว ไปดับกิเลสที่เกิดขึ้น นี่เป็นวิธีการให้จิตได้เรียนรู้จดจำสภาวะการดับของขันธ์
.การเลือกใช้ธรรมะ(ธรรมวิจัย) จะใช้ธรรมะข้อใดนั้น ขึ้นอยู่กับกิเลสที่เกิดขึ้นในขณะนั้น  เช่น
ความโลภ ให้ใช้มรณานุสสติ เมื่อเรานึกถึงความตายเป็นปกติ คลายความยึดมั่นถือมั่น ความต้องการในวัตถุสิ่งของ ให้คิดว่าเราอาจจะตายได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นที่เราจะต้องมีวัตถุ สิ่งของเกินความจำเป็น
ราคะ ให้ใช้กายคตาสติกรรมฐาน โดยพิจารณาว่าร่างกายของเรานั้นสกปรก เต็มไปด้วยอุจจาระปัสสาวะ น้ำเลือด น้ำหนอง ร่างกายของบุคคลที่เรารักก็เช่นกัน เราจะไปยึดถือในร่างกายนี้ทำไม หรือเป็นเรื่องของไตรลักษณ์ บุคคลนี้ปัจจุบันนี้หล่อ สวย อีกห้าสิบปีจะเป็นเช่นไร ไม่ช้าต้องตายในที่สุด ทั้งหลายนั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์ ความตาย การพลัดพรากจากกันนั้นเป็นทุกข์
ความหลง ให้ใช้ธรรมานุสสติกรรมฐาน เป็นต้น
ข้อควรระวัง เจตนาในการเอาจิตเข้าไปจับเพื่อพิจารณาเหตุใดเหตุหนึ่งนั้นไม่ใช้วิปัสสนา แต่อย่างไรก็ตามเจตนาก็สามารถเปลี่ยนมาเป็๋นวิปัสสนาได้เช่นกัน เพราะสิ่งที่กระทบย่อมเปลี่ยนแปลง เมื่อความจริงที่ปรากฏพ้นสภาวะของเจตนา เจตนาจึงเปลี่ยนเป็นไม่เจตนา โดยขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัย ณ.ขณะนั้น

      ๕.ให้รู้ถึงสภาวะการเกิดดับของจิต ภายหลังจากที่ได้ใช้ธรรมะประหัตประหารกิเลส ที่เกิดขึ้นในสภาวะธรรมของขันธ์5แล้ว แต่กิเลสยังคงปรากฏอยู่ จะต้องไม่หักห้ามกิเลสนั้นหรือต้องไม่พยายามที่จะตัดกิเลสที่เกิดขึ้นนั้น ให้ปล่อยอารมณ์ที่เกิดขึ้นให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพียงแต่ต้องมีสติตามรู้เท่าทันจิต ให้เห็นถึงการเกิดดับของสภาวะธรรมเหล่านั้น คือเห็นถึงการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปของกิเลสนั้นๆ เมื่อเกิดกิเลสก็รู้  เมื่อกิเลสยังคงตั้งอยู่ก็รู้ เมื่อกิเลสนั้นดับไปก็รู้
ตัวอย่าง เมื่อเรามีราคะเกิดขึ้น สติรู้สภาวะทางอารมณ์ทีเกิดขึ้นได้ทันที ให้เอาจิตเข้าไปจับ พิจารณาความเป็นจริงในสิ่งที่ปรากฏ ถึงความไม่เที่ยงของสิ่งที่กระทบ ให้รู้ถึงความไม่คงทนถาวร ต้องเสื่อมสลายไปตามธรรมชาติ การเกิดขึ้นของอารมณ์ทั้งหลายเรารู้ การตั้งอยู่ของอารมณ์ทั้งหลายเรารู้ ตั้งอยู่นานแค่ไหนก็รู้ เพียงให้มีสติตามรู้ความคงอยู่ของอารมณ์นั้นๆ เมื่อเอาจิตเข้าไปจับตามข้อ ๓ เพื่อดับอีกหลายๆครั้ง ในที่สุดอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นก็ดับลง และเมื่ออารมณ์ทั้งหลายดับ เราก็ต้องมีสติรู้ ดับรูปขันธ์ เมื่อเราทำเช่นนี้บ่อยครั้งเข้า จิตจะเกิดการเรียนรู้จดจำ ในครั้งต่อไปถ้ามีเหตุการณ์เช่นเดียวกันเกิดขึ้น เราก็จะสามารถดับอารมณ์ทั้งหลายได้อย่างรวดเร็วขึ้น หลายครั้งเข้า จนสามารถปล่อยวางได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องงัดข้อธรรมะทั้งหลายมาใช้อีก เพราะว่าจิตได้จดจำสภาวะการดับของขันธ์นั้นเป็นอย่างดีแล้ว หรือด้วยเกิดปัญญาญาณที่สามารถพิจารณาสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงได้ 

         ในที่สุดเมื่อมีสิ่งใดมากระทบจิต จิตก็จะเกิดความว่างเป็นปกติ ด้วยเหตุว่าจิตเห็นทุกข์ทั้งหลายแต่ไม่เอาทุกข์นั้นไว้ เพราะเห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ลิ้มรสสักแต่ว่าลิ้มรส ได้กลิ่นก็สักแต่ว่าได้กลิ่นสัมผัสทางกายก็สักแต่ว่าสัมผัสทางกาย สัมผัสทางใจก็สักแต่ว่าสัมผัสทางใจ เมื่อรูปขันธ์ดับ นามขันธ์จึงไม่เกิด  กำลังของสติเพิ่มความสามารถในการรู้เท่าทันจิต กำลังของสติที่เกิดจากการฝึกสมาธิ(สมถะ)ดีแล้ว จะทำให้มีสติรูัเท่าทันจิต และถ้าสามารถทรงฌาน(ทรงสติปัฏฐานสี่)เป็นอารมณ์ได้อย่างเป็นปกติด้วยแล้ว ทุกครั้งเมื่อมีเหตุมากระทบ จิตจะสามารถรู้ถึงความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏได้อย่างอัตโนมัติ การทรงสติปัฏฐานสี่นั้นสามารถทำได้ในทุกอริยะบถ เช่น ยืน เดิน  นั่ง นอน และในทุกอริยบท การทรงฌานด้วยอานาปานสติกรรมฐาน ถือว่าเหมาะกับการทำวิปัสสนากรรมฐานเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อมีเหตุที่ไม่ได้คาดหมายเกิดขึ้น จิตก็จะหันไปจับลมหายใจเป็นอัตโนมัติสติจึงบังเกิด ทำให้จิตสามารถรับรู้ถึงสภาวะธรรมของขันธ์ ๕ ที่เกิดขึ้นได้ทันที



อ้างอิง
https://th.wikipedia.org/wiki/วิปัสสนากรรมฐาน
https://sites.google.com/site/chamcharat2/chit