วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

กรรมฐาน คืออะไร

กรรมฐาน  เป็นคำเรียกโดยรวมในหมวดของการปฏิบัติธรรมประเภทหนึ่งในพระพุทธศาสนา หมวดกรรมฐาน ประกอบด้วย ตัวกรรมฐาน และโยคาวจร  ตัวกรรมฐาน คือ สิ่งที่ถูกเพ่ง ถูกพิจารณา ได้แก่ อารมณ์ต่าง ๆส่วนโยคาวจร คือ ผู้เพ่งหรือผู้พิจารณา ได้แก่ สติสัมปชัญญะและความเพียร การฝึกกรรมฐานว่าโดยธรรมาธิษฐานจึงหมายถึงการใช้สติสัมปชัญญะพิจารณาอารมณ์ ที่มากระทบ อย่างระมัด ระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น เพียรหมั่นระลึกถึงกุศลและรักษากุศลนั้นอยู่มิให้เสื่อมไป  หากกล่าวถึง คำว่า กรรมฐาน เราจะ เข้าใจกันว่า กรรมฐาน คือ สมาธิหรือการนั่งหลับตาท่องคำซ้ำ ๆ ซึ่งเป็นการกระทำบางอย่างที่ต่างไปจากพฤติกรรม การให้ทาน การรักษาศีล แต่สำหรับความหมาย ที่มีมาในพระบาลี ตามนัยแห่งมูลฎีกาแสดงวินิจฉัยคำ “กรรมฐาน” ไว้ว่า

                                      กมฺมเมว วิเสสาธิคมนสฺส ฐานนฺติ กมฺมฐาน


                  แปลว่า การงานที่เป็นเหตุแห่งการบรรลุคุณวิเศษ  ชื่อว่า “กรรมฐาน

กล่าวโดยสรุป การฝึกกรรมฐานเป็นการกระทำกุศลกรรมชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะมโนกรรม ต่างจากกรรมทั่วไป  ตรงที่เป้าหมายการกระทำเป็นไปเพื่อความสิ้นภพชาติ สิ้นทุกข์ ไม่ต้องไปเกิดในแหล่งกำเนิดใดอีก เนื่องจากจิตต้องอิงอาศัยอารมณ์จึงเกิดขึ้นได้ และธรรมชาติของจิตมีความสัดส่ายไปตามอารมณ์ ไม่อาจหยุดนิ่งเพื่อการพิจารณาแม้เพียงชั่วครู่ จึงจำเป็นต้องใช้อุบายบางอย่าง เพื่อลดความสัดส่าย โดยหาสิ่งที่ไม่เป็นโทษให้จิตอิงอยู่ อุบายที่ว่านี้คือ  ที่มาของกิจกรรมที่เรียกว่ากรรมฐาน

 อุบายดังกล่าวแยกออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
๑. อุบายสงบใจ  กล่าวคือ อาศัยวิธีการท่องถ้อยคำบางอย่างซ้ำ ๆ กัน และบังคับตนเองในลักษณะ การสร้างแนวคิด เกี่ยวกับคำนั้น สิ่งที่เราสร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นแนวคิด ความคิด หรือภาพพจน์ของคำ ๆ นั้น ล้วนเป็นองค์ประกอบของความสงบที่เรียกว่า    สมถกรรมฐาน

๒. อุบายเรื่องปัญญา อาศัยความรู้สึกตัวที่มีอยู่ รู้ถึงการสัมผัสทางทวารทั้ง ๖ รู้ถึงปรากฏการณ์ทางจิต ขณะร่างกายมีการกระทบสิ่งเร้า เฝ้าติดตามการรับรู้นี้ด้วยความตั้งใจ เมื่อมีความตั้งใจอยู่ที่ การรับ กระทบความคิดต่าง ๆ ก็จะถูกตัดออกไป จนไม่สามารถสอดแทรกเข้ามาได้ ไม่เปิดโอกาส ให้มีการก่อตัว ของแนวคิด ภาพลักษณ์หรือความคิดใด ๆ ตามมา เท่ากับเป็นการรู้เท่าทัน กระบวนการที่เกิดขึ้นโดยตรงในทันทีที่เกิดขึ้น จึงไม่เกิดการบิดผันใด ๆ ทางด้านความคิดนี้ คือ  ส่วนของกิจกรรมที่เรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน

             เนื่องจากกรรมฐานเป็นกุศโลบายบางอย่างที่เกิดจากความตั้งใจสร้างแนวคิดขึ้นหรือไม่ก็เป็นการตั้งใจรับความรู้สึกโดยไม่ผ่านแนวคิด อารมณ์ที่จิตอิงอยู่จึงไม่เหมือนอารมณ์ทั่วไป ที่รับรู้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน ภาพลักษณ์และความรู้สึกตัวเป็นผลมาจากความตั้งใจ ดังกล่าว และถูกจัดเป็นหมวดหมู่ของอารมณ์พิเศษที่มีหลักการและวิธีการรับรู้เป็นการเฉพาะสำหรับกรรมฐานแต่ละประเภท เช่น แนวคิดของคำหรือภาพลักษณ์ที่สร้างขึ้นจากสมถกรรมฐาน ๔๐ อย่าง หรือความรู้สึกตัวในนาม-รูปจากวิปัสสนากรรมฐาน  มีขันธ์ อายตนะ เป็นต้น อารมณ์พิเศษและวิธีการเฉพาะนี้มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาได้โดยบังเอิญ หรือนึกคิดจะทำตามความนิยมที่สืบต่อกันมาก็ทำได้  แต่เป็นสิ่งที่ต้องการความเข้าใจในเหตุปัจจัยและหลักการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลตามที่ต้องการ ดังนั้น การเข้าหาอาจารย์ผู้มีความชำนาญในการใช้อุบายกรรมฐาน การรู้ถึงจริตอัธยาศัยผู้เรียน การอยู่ในสถานที่ที่ไม่พลุกพล่าน มีการเรียนการสอน และการปฏิบัติควบคู่กันไป และการอุทิศเวลาบางส่วนเพื่อศึกษาและปฏิบัติจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเจริญกรรมฐาน

ความสำคัญของกรรมฐาน
 ความทุกข์เป็นสิ่งที่ชีวิตไม่ต้องการ พระพุทธศาสนาแบ่งความทุกข์ไว้ ๒ อย่าง คือทุกข์ประจำและทุกข์จร ทุกข์ประจำ หมายถึง ทุกข์ที่มาพร้อมชีวิต คือ การเกิด แก่ ตาย ไม่มีใครหลีกเลี่ยงทุกข์ประจำนี้ได้ ส่วนทุกข์จรได้แก่ ความเศร้าโศก รำพัน ต้องอาลัยไม่ขาด การไม่สมความปรารถนา และการพลัดพรากจากของรัก เป็นต้น เป็นเพียงทุกข์ที่ผลัดกันเกิดขึ้นในระหว่างที่เกิดแก่และตายนั่นเอง อาจจะบรรเทาได้บางส่วนตามสมควร แต่ก็ไม่อาจทำให้ทุกข์จรนั้น หมดไปได้เช่นกัน สังคมในอดีตเคยต้องเกิด แก่ ตายอย่างไร ปัจจุบันแม้จะมีเทคโนโลยี ที่ก้าวหน้าทันสมัยอย่างไร เทคโนโลยีเหล่านั้น ก็ยังไม่อาจ แก้ปัญหาชีวิตที่ต้องแก่และต้องตายของชีวิตใครได้
             พระพุทธศาสนามิได้สอนหรือบังคับให้หนีสังคม มิได้ถ่วงความเจริญ หรือพยายามหยุดยั้งเทคโนโลยีที่กำลังก้าวกระโดดนั้น อย่างที่หลายคนเข้าใจกัน ที่จริงแล้วจะมีเทคโนโลยีหรือไม่มีก็ตาม ปัญหาก็มิได้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นจากเดิม ทั้งนี้เทคโนโลยีต่าง ๆ มีทั้งส่วนที่ให้คุณและให้โทษ ขึ้นอยู่กับผู้ที่นำไปใช้มากกว่า จุดยืนทางศาสนาอยู่ที่การเป็นสัญญาณ เตือนภัยที่จะเกิดแก่มนุษย์ ภัยนั้นมีอยู่รอบด้านโดยเฉพาะภัยทางความคิด ซึ่งมนุษย์มองไม่เห็นและไม่เชื่อว่าเป็นภัยจริง  มุมมองที่คับแคบอาจทำให้มนุษย์มอง เห็นเพียงด้านเดียว  ของความสะดวกสบายจากเทคโนโลยี แล้วกล่าวอ้างถึงความเจริญทันสมัย เพื่อสนับสนุนความคิดของตน และเลือกที่จะทำตามความคิดนั้น จนละเลยปัญหาที่จะตามมาในภายหลัง  ศาสนามีหน้าที่แสดงความจริงเกี่ยวกับโลกและชีวิต แนะนำถึงความรอบคอบ  และรอบรู้ในการดำเนินชีวิต  โดยเกิดความเดือดร้อน น้อยที่สุด รอบรู้ว่าสิ่งใดควรคิดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ ช่วยให้มนุษย์เข้าใจชีวิตและส่วนที่เป็นปัญหา มีระเบียบในเรือนใจ และการยอมรับเหตุผล ทำให้สามารถหาทางออกจากความขัดแย้งและอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหาได้อย่างผู้รู้กาลเทศะ

 จุดมุ่งหมายของกรรมฐาน
 การฝึกกรรมฐาน  เป็นกิจกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา  เกิดขึ้นเพื่อเป็น พื้นฐานรับรองเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ดังกล่าว ในพระศาสนา แม้จะ มีจุดหมายสูงสุดอยู่ที่การบรรลุ คุณวิเศษ คือ มรรค ผล นิพพาน แต่ถ้าจิตใจยังพัฒนา ไม่ผ่านขั้นตอนการยอมรับ การเวียนว่ายตายเกิด  อันยาวนานของตนเอง หรือยังมีความสงสัยในเรื่องภพชาติ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันและที่จะเป็นไปในอนาคตแล้ว ขบวนการถอนรากถอนโคนกิเลสตัณหา อาสวะ และอนุสัยต่าง ๆ ในจิตใจอย่างจริงจังจะยังไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ภัยของภพชาตินั้น มาจาก ความจำเจวนเวียน ที่ชีวิตต้องอยู่กับ ความสุขบ้าง  ความทุกข์บ้าง  มีความผันแปรไปตามเหตุปัจจัย มิได้ผันแปรไปตาม ความต้องการของตนเอง   การเห็นภัยจึงมีความสำคัญทำให้ผู้เห็นภัยดังกล่าวยอมเปลี่ยนวิถีชีวิตจากที่เคยวนเวียน เป็นไปเนื่องด้วยกิเลสตัณหา   สู่วิถีชีวิตที่มีสติสัมปชัญญะดำเนินชีวิตไปตามทางมรรคได้อย่างมั่นคง  ความกลัวภัย ทำให้เราเปลี่ยนแนวความคิด เปลี่ยนความต้องการใหม่ ตรงนี้คือ จุดเริ่มของพระพุทธศาสนา การทำทาน รักษาศีล ไม่ช่วยให้เกิดความรู้สึกกลัวภัยได้   คนที่จะน้อมเข้ามาในการปฏิบัติกรรมฐานจะต้องเห็นภัยในวัฏสงสารก่อน จึงจะมองหาการปฏิบัติ แต่การปฏิบัติบางอย่างอาจทำให้เกิดความสุขมากมาย ซึ่งไม่ช่วยให้เห็นภัยของวัฏฏะ นั่นก็ไม่ตรงกับพระพุทธศาสนา  พื้นฐานความคิดเกี่ยวกับ  ภัยของวัฏสงสารจะได้จากการเรียนก่อน จากนั้นจึงน้อมเข้ามาสู่การปฏิบัติ
               การพิสูจน์การเวียนว่ายตายเกิดนั้น มิใช่เพียงการทำจิตให้สงบแล้วพาไปดูนรกสวรรค์หรือจินตนาการถึงพระนิพพาน  ว่าเป็นเมืองแก้วตามที่ได้ยินมา การยอมรับว่ามีนรกสวรรค์ดังกล่าว มีประโยชน์ในแง่ของการสร้างศรัทธา ที่จะทำความดี ละเว้นความชั่ว เพื่อความสุขของชีวิตในภพนี้และภพหน้า  แต่ไม่สามารถเปลี่ยนความเชื่อและทิฏฐิ ที่เป็นอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานได้ จึงมีความปรารถนาการเกิดอยู่เสมอไป ไม่รู้สึกว่าสังสารวัฏฏ์ จะเป็นภัย ต่อชีวิตตนเองได้อย่างไร การเผชิญ กับความเกิดดับ (ตาย) อย่างซ้ำซากเฉพาะหน้า จำต้องอาศัยความเข้าใจ และการปฏิบัติบำเพ็ญเพียรทางจิตขั้นเอกอุ จึงจะยอมรับภัยของชีวิตได้    ซึ่งมีวิธีการอยู่ ๒ วิธี คือ สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน




อ้างอิง
http://abhidhamonline.org/kammathana.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น