วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อริยสัจ ๔

อริยสัจ แปลว่า  “ความจริงอันประเสริฐ  หรือความจริงของพระอริยบุคคล”  หมายความว่า ถ้าผู้ใดสามารถรู้ อริยสัจ ๔ ด้วยปัญญา  ผู้นั้นก็จะเป็นพระอริยบุคคลและที่ทำให้เป็นผู้ประเสริฐนั้นก็เพราะในขณะที่รู้ อริยสัจ ๔  กิเลสทั้งหลายก็ถูกทำลายหายไปจากจิตของผู้นั้นด้วย คือ จิตจะมีสภาพใสสะอาด บริสุทธิ์ พ้นจากสภาพสามัญชนกลายเป็นพระอริยบุคคล  หรือเป็นบุคคลที่ประเสริฐอริยสัจดังกล่าวนี้  เจ้าชายสิทธัตถะทรงเป็นผู้ค้นพบหรือได้ตรัสรู้เป็นบุคคลแรกในโลกจึงทำให้พระองค์กลายเป็นพระพุทธเจ้า  หรือเป็นบุคคลผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
             อริยสัจ ๔  จัดเป็นหมวดธรรมที่สำคัญมากของพระพุทธศาสนา  เพราะเป็นที่สรุปรวมของพระธรรมคำสั่งสอนทั้งหมด  หมายความว่า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ในพระไตรปิฎกทั้ง ๓ คือ พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎกนั้น  ก็จะสรุปรวมลงในอริยสัจ ๔ ทั้งสิ้น

            ความหมายของอริยสัจ ๔ แต่ละข้อ เพื่อจำง่ายจึงสุรปได้ดังนี้   


๑. ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาพที่บีบคั้น ได้แก่    ชาติ (การเกิด)    ชรา (การแก่ การเก่า) มรณะ (การตาย การสลายไป การสูญสิ้น) ทุกข์ คือ สิ่งที่เบียดเบียนบีบคั้นทำให้เกิดความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ อันเกิดจากร่างกายหรือจิตใจ ถูกเบียดเบียนแล้ว  ทนได้ยาก  หรือทนไม่ได้ จึงทำให้เกิดเป็นทุกข์ ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ปวดหัว ปวดฟัน ปวดท้องอย่างรุนแรงจนทนไม่ได้ ทนไม่ไหว จึงเกิดเป็นทุกข์ทางกาย
                  ในบางครั้ง เมื่อเกิดอารมณ์เศร้า หดหู่ หรือเกิดอาการกระวนกระวายใจ  เพราะถูกด่าบ้าง เพราะผิดหวังที่ทำอะไรไม่ได้ตามใจบ้าง  จึงเกิดเป็นทุกข์ทางใจ ความทุกข์ทางกายและความทุกข์ทางใจทั้ง ๒ ประการนี้  จัดเป็นความทุกข์ขั้นพื้นฐานที่เกิดขึ้นประจำวัน  ซึ่งทุกคนต่างก็รู้จักดีและเคยประสบกันมาแล้ว  แต่ความทุกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบในทุกข์อริยสัจนั้น  ยังมีความหมายกว้าง ครอบคลุมไปถึงลักษณะไม่คงที่  มีความแปรปรวนในสิ่งที่ทั้งปวงด้วย  ซึ่งท่านได้แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้ คือ
                  ๑.  สภาวทุกข์  คือ ทุกข์ประจำสภาวะ หมายถึง ความทุกข์ที่มีประจำอยู่ในสภาพร่างกายของคนเรา เริ่มตั้งแต่เกิดมามีชีวิต จนถึงตาย ซึ่งมีอยู่ ๓ อย่าง ดังนี้ คือ
                        ๑.๑  ชาติทุกข์ แปลว่า “ความเกิดเป็นทุกข์”  
                        ๑.๒  ชราทุกข์  แปลว่า  “ความแก่ชราเป็นทุกข์” 
                        ๑.๓  มรณทุกข์  แปลว่า  “ทุกข์คือความตาย” 
                  ๒.  ปกิณณกทุกข์  แปลว่า  “ทุกข์เล็กๆ น้อยๆ”  หมายถึง  ความทุกข์ที่จรมาจากที่อื่นโดยเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ตามเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมของชีวิต  มีน้อยบ้างมากบ้าง

๒. ทุกขสมุทัย คือ “เหตุให้ทุกข์เกิด”  หมายความว่า  ความทุกข์ทั้งหมดในอริยสัจข้อที่  ๑  เหล่านั้นมิได้เกิดขึ้นมาลอยๆ  จะต้องมีสาเหตุบางอย่างที่ทำให้ทุกข์เกิดขึ้น  พระพุทธองค์นอกจากจะทรงรู้จักตัวความทุกข์อย่างแจ่มแจ้งแล้ว  ยังทรงรู้สึกถึงสาเหตุอันแท้จริงที่ทำให้เกิดความทุกข์นั้นด้วยโดยพระพุทธองค์ทรงชี้ว่า ตัณหา คือความอยากเกินพอดีที่มีอยู่ในจิตใจนั่นเอง  เป็นตัวเหตุให้เกิดความทุกข์ ตัณหา นั้นมีอยู่ ๓ ประการ คือ
                  ๑.  กามตัณหา  คือ ความอยากได้อย่างโน้นอย่างนี้ ซึ่งเกิดจากตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เช่น ตาเห็นรูปสวยงาม ก็เกิดความอยากได้  อยากได้บ้านสวยๆ ราคาแพง อยากได้เสื้อผ้าสวยๆ อยากได้รถยนต์คันงาม เป็นต้น ความอยากทำนองนี้เป็นความอยากในสิ่งที่รักใคร่  และน่าพอใจ เป็นความอยากที่ไม่รู้จบ  เมื่อไม่ได้ตามความประสงค์ก็จะเกิดทุกข์
                  ๒.  ภวตัณหา  คือ  ความยากเป็นอย่างโน้นอย่างนี้  เป็นความอยากได้ในตำแหน่งฐานะที่สูงขึ้นตามที่ตนรักใคร่และพอใจ เช่น อยากเป็นข้าราชการในตำแหน่งสูงๆ  อยากเป็นมหาเศรษฐีและอยากเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นต้น  เมื่อไม่ได้ดังใจปรารถนาก็เป็นทุกข์
                  ๓.  วิภวตัณหา  คือ ความอยากไม่เป็นความอยากไม่มี  จัดเป็นความอยากที่ประกอบกับความเบื่อหน่ายในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  โดยต้องการจะหลีกหนีให้พ้นจากสภาพนั้นไป เช่น อยากไม่เป็นคนโง่ อยากไม่เป็นคนพิการ และอยากไม่เป็นคนยากจน เป็นต้น  ซึ่งความอยากไม่เป็นนี้  ถ้าไม่เป็นไปตามที่ตนต้องการแล้วก็จะทำให้เกิดทุกข์ เช่นเดียวกัน
                  ตัณหา คือ ความอยากทั้ง ๓ ประการนี้ ถ้าอยากจนเกินพอดี คือ ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้ ควรหรือไม่ควร เป็นต้น ย่อมทำให้เกิดเป็นทุกข์ทั้งสิ้น


๓. ทุกขนิโรธ คือ ความดับทุกข์  หมายถึง ความรู้หรือปัญญาที่ทำให้จิตใจของบุคคลสามารถละตัณหาได้  หรือสามารถทำลายตัณหาให้หมดไปจากจิตใจและจิตที่บรรลุนิโรธแล้ว  จะมีลักษณะสงัดจากกิเลส ไม่ยึดมั่นในตัวตน  รวมไปถึงไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงอีกด้วย  คงเหลือแต่ธรรมชาติของความสงบสุขอย่างยิ่ง  ซึ่งทางพระพุทธศาสนาเรียกสภาวะอย่างนี้ว่า  “นิพพาน”

๔. มรรค แนวปฏิบัติที่นำไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์ หมายถึง  อริยมรรค  หรือทางอันประเสริฐซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ ประการคือ
     ๑.  ความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ)  หมายถึง  การรู้เห็นในอริยสัจ ๔  อย่างถูกต้อง  
     ๒.  ความดำริชอบ  (สัมมาสังกัปปะ)  หมายถึง ความคิดชอบ
     ๓.  การพูดชอบ  (สัมมาวาจา)  หมายถึง เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด
     ๔.  การกระทำชอบ  (สัมมกัมมันตะ)  หมายถึง  เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ 
     ๕.  การเลี้ยงชีวิตชอบ  (สัมมาอาชีวะ)  หมายถึง  มีความเพียรระวังไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรม
     ๖.  ควรเพียรชอบ  (สัมมาวายามะ)  หมายถึง  มีความเพียรระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นในตน 
     ๗.  ความระลึกชอบ  (สัมมาสติ)  หมายถึง ความมีสติระลึกถึงความเป็นไปได้ของสภาพร่างกาย 
     ๘.  การตั้งจิตให้ชอบ  (สัมมาสมาธิ)  หมายถึง การทำจิตให้เป็นสมาธิ  ตั้งแต่การทำจิตให้สงบ







อ้างอิง
http://chanwit36.blogspot.com/2010/11/4.html



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น