วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะ คืออะไร

ธรรมะ  หมายถึง ระเบียบกฎเกณฑ์ที่มีอยู่โดยตัวของมันเองในธรรมชาติ พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้ค้นพบ ปฏิบัติตาม เกิดผลที่ต้องการแล้วก็ประกาศให้คนอื่นรู้  เมื่อคนอื่นรู้แล้วปฏิบัติตามก็เกิดผลอย่างเดียวกัน และพระธรรมปิฎก กล่าวถึงความหมายของพระธรรมไว้ว่า พระธรรม คือ ความจริงของสิ่งทั้งหลายหรือธรรมชาติทั้งหมด รวมทั้งโลกและชีวิตของเรา ซึ่งเราจะต้องรู้ เข้าใจ และดำเนินชีวิตให้ประสานสอดคล้องถูกต้องตามนั้น เพื่อจะได้มีชีวิตที่ดีงาม เป็นสุขแท้จริง
         ธรรมะเป็นสิ่งที่มีจริง    พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรม คือ ตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริง ๆ สิ่งที่มีจริง ก่อนการตรัสรู้ ไม่มีใครพบว่าเป็นธรรมะ เพราะเห็นว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรา เป็นเขา เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ   แต่เมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ตรัสรู้ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา หมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่เที่ยง    แต่ลักษณะ ของธรรมนั้น   เป็นสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้   ซึ่งจะต้องค่อย ๆ ไตร่ตรอง ตามลำดับ เช่น ขณะนี้อะไรจริง   กำลังเห็นมีจริง ๆ สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริงๆ เสียงมีจริง ๆ   จิตที่ได้ยิน รู้เสียงนั้นมีจริง ๆ   ความสุขมีจริง   ความทุกข์มี จริง  ลักษณะของแข็งมีจริง สภาพที่กำลังรู้แข็งมีจริง    ทั้งหมดนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ก็จะต้องศึกษาให้ทราบว่า ที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา แต่ถ้าไม่มีตัวธรรมะที่เกิดขึ้นปรากฏ  เราก็ไม่มี    แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้น    เพราะความไม่รู้ก็เลยถือว่าสิ่งที่เกิด นั้นเป็นเรา  หรือว่าเป็นของเรา เช่น รูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า   มีเหตุปัจจัย ปรุงแต่งเกิดขึ้น    แต่เพราะความไม่รู้ก็ยึดถือรูปนั้นว่าเป็นเรา    แม้แต่สภาพ ของจิตใจ  หรือความรู้สึกเป็นสุข  เป็นทุกข์ ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่เมื่อไม่รู้ ก็ยึดถือสภาพธรรมนั้น ๆ ว่าเป็นเรา
          เพราะฉะนั้น  จากการที่เคยเป็นเราทั้งหมด   ความรู้โดยการศึกษาจะทำให้เข้าใจว่า   เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด ซึ่งมีจริง ๆ    ที่มีจริง ๆ เพราะ ว่าเกิดขึ้นปรากฏ   ถ้าไม่เกิดปรากฏ ก็ไม่มีใครสามารถจะไปรู้ ไปเห็น ไปเข้าใจได้    แต่เพราะว่าในขณะนี้เอง สิ่งที่ปรากฏเป็นสิ่งที่มีจริง และเกิดขึ้นแล้วจึงปรากฏและเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป   ตรงกับไตรลักษณะที่ว่า อนิจจัง ทุกขัง  อนัตตา คือ  สภาพธรรมใดที่มีปัจจัยเกิดขึ้น    สภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับไป ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา

ความหมายของธรรมะ  คำว่า ธรรมะ ที่อรรถกถาจารย์ได้ให้ความหมายไว้ เช่น


พระพุทธโฆษาจารย์ได้ให้ความหมายไว้ ๔ ประการคือ


๑. คุณะ ได้แก่ ความประพฤติที่ดีงาม 


๒. เทศนา ได้แก่ คำสั่งสอน คำแนะนำทางศีลทางธรรม 


๓. ปริยัติ ได้แก่ ลักษณะคำสอนของพระพุทธเจ้า ๙ แบบ 


๔. นิสสัตต-นิชชีวะ ได้แก่ กฎแห่งเอกภพที่มิใช่สัตว์ มิใช่บุคคล หรือกฎธรรมชาติ 



ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้จำแนกธรรมไว้ ๔ ประเภทเช่นเดียวกัน คือ 


๑. ธรรมะ คือหน้าที่และการปฏิบัติตามหน้าที่ 


๒. ธรรมะ คือผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามหน้าที่ 


๓. ธรรมะ คือความจริงที่ปรากฏหรือกฎธรรมชาติ 


๔. ธรรมะ คือธรรมชาติทั้งปวง 




           กล่าวโดยสรุป ธรรมะ หมายถึง ระเบียบกฎเกณฑ์ที่มีอยู่โดยตัวของมันเองในธรรมชาติ พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้ค้นพบ ปฏิบัติตาม เกิดผลที่ต้องการแล้วก็ประกาศให้คนอื่นรู้ เมื่อคนอื่นรู้แล้วปฏิบัติตามก็เกิดผลอย่างเดียวกัน และพระธรรมปิฎก กล่าวถึงความหมายของพระธรรมไว้ว่า พระธรรม คือ ความจริงของสิ่งทั้งหลายหรือธรรมชาติทั้งหมด รวมทั้งโลกและชีวิตของเรา ซึ่งเราจะต้องรู้ เข้าใจ และดำเนินชีวิตให้ประสานสอดคล้องถูกต้องตามนั้น เพื่อจะได้มีชีวิตที่ดีงาม เป็นสุขแท้จริง



อ้างอิง

http://mediacenter.mcu.ac.th/data/caipyo/m5/web/hungtoom/p1.php


                                  




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น