วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ขันธ์ ๕

 ขันธ์ ๕ หรือเบญจขันธ์  องค์ประกอบสำคัญทั้ง ๕ ที่ทางพุทธศาสน์ถือว่า เป็นเหตุ คือสิ่งทั้ง ๕ ที่มาเป็นปัจจัยปรุงแต่งเป็น ชีวิต ขึ้น, เป็นเหตุปัจจัยที่เมื่อประชุมปรุงแต่งกันขึ้นจนเป็นสังขารคือสิ่งปรุงแต่ง ที่เรียกกันโดยสมมติในภาษาไทยว่า ชีวิต, ชีวิตจึงประกอบด้วยขันธ์ที่หมายถึงฝ่ายหรือกองต่างๆ ดังนี้  รูปขันธ์, เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, วิญญาณขันธ์  
ชีวิตเกิดขึ้นจากเหตุคือขันธ์ทั้ง ๕ มาเป็นปัจจัยกัน ในชั่วขณะระยะเวลาหนึ่งๆ นั่นเอง ชีวิตนี้  เมื่อมีเหตุปัจจัยประชุมปรุงแต่งกันขึ้นแล้วนั้น  ย่อมหมายถึงต้องมีการประสานทำงานที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน หรือการเป็นปัจจัยแก่กันและกันระหว่างขันธ์หรือระหว่างกองทั้ง ๕ อยู่ตลอดเวลา ตราบเท่าที่ยังดำรงขันธ์คือชีวิตอยู่    ซึ่งพระองค์ท่านแบ่งขันธ์หรือชีวิตออกเป็นส่วนหรือเป็นกองทั้ง ๕ ที่มาประกอบกันเป็นเหตุปัจจัยกันจนเป็นชีวิตหรือสังขารตัวตนที่ประกอบด้วยจิตวิญญาณ  ก็ล้วนเพื่อยังประโยชน์ในการวิปัสสนาเพื่อให้เกิดปัญญาจากการไปรู้เห็นตามความเป็นจริงที่เป็นไปของชีวิต  เพื่อให้เกิดนิพพิทาญาณอันเป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด(ตัณหา) จึงคลายความยึดมั่น(อุปาทาน) เพื่อความปล่อยวาง อันเป็นสุข สะอาด สงบ บริสุทธิ์ยิ่ง

๑. รูปขันธ์ หรือรูป หมายถึง กองหรือส่วนของรูปร่างหน้าตา หรือร่างกาย หรือฝ่ายตัวตน  ให้นึกภาพของคนที่เพิ่งตายใหม่ๆที่มีร่างกายสมบูรณ์อยู่ยังไม่แตกสลาย นั่นแหละส่วนหรือกองของรูปหรือรูปขันธ์แท้ๆล้วนๆ เมื่อยังไม่อิงเหตุปัจจัยประชุมร่วมกับขันธ์อื่นๆทั้ง ๔  ขันธ์ก็จะมีสภาพเป็นเพียงกลุ่มก้อนมายาของเหตุปัจจัยของธาตุทั้ง ๔ 
ซึ่งเป็นเพียง"สรีระยนต์" ที่นอนเป็นท่อนเป็นก้อนเฉยอยู่นั่นเอง,  อายตนะภายในทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือทวาร ๖ อัน คือประตูหรือช่องทางที่ใช้ติดต่อกับโลกภายนอกทั้ง ๖  ต่างก็ล้วนต้องแฝงอาศัยอยู่หรือเป็นส่วนหนึ่งของกองรูปขันธ์นี้นี่เอง (สมองก็เป็นส่วนหนึ่งของรูปขันธ์นั้น แต่ก็เป็นหทัยวัตถุ คือเป็นส่วนหนึ่งของใจหรือจิต คือเป็นวัตถุหรือเหตุปัจจัยอันหนึ่งของจิต แต่ก็ยังไม่ใช่จิต เพราะยังต้องประกอบด้วยเหตุอื่นๆ มาเป็นปัจจัยกันอีกด้วยนั่นเอง)
พึงระวังสับสน ที่ในภายหน้าบางครั้ง เมื่อกล่าวถึงการทำงานประสานกันของขันธ์หรือก็คือกระบวนธรรมของขันธ์ ๕ แล้ว มีคำว่า รูป  ที่อาจหมายถึง สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จิตใช้เป็นอารมณ์คือเป็นที่กำหนดในขณะนั้น จึงอาจหมายถึงใน รูป  รส  กลิ่น  เสียง  โผฏฐัพพะ  ธรรมารมณ์ ทั้ง ๖  ใดๆก็ได้(คือสิ่งที่ถูกรู้หรือสัมผัสได้โดยอายตนะภายใน)  จึงครอบคลุมได้ถึง รูปหรือภาพที่เห็นด้วยจักษุ  หรืออาจหมายถึงเสียงที่ได้ยินนั้น  หรือกลิ่นที่ได้ดมนั้น  หรือรสที่ได้ลิ้มสัมผัสนั้นๆ ฯ. ได้เช่นกัน

๒. เวทนาขันธ์ การเสวยอารมณ์, ความรู้สึก, ความรู้สึกที่เกิดจากการรับรู้ในรสของอารมณ์ คือความรู้สึกรับรู้ที่ย่อมเกิดขึ้นจากสิ่งที่จิตกำหนดหมาย หรือยึด หรือกระทบนั้นๆ  จึงหมายถึง กองหรือหมวดหมู่ของชีวิตที่ทำหน้าที่ เสพเสวยในรสชาดของสิ่งต่างๆที่เป็นอารมณ์ กล่าวคือ ความรู้สึกที่ย่อมต้องเกิดขึ้น จากการเสพเสวยหรือรับรู้ในสิ่ง(อารมณ์)ต่างๆที่กระทบสัมผัส(ผัสสะ)  พระองค์ท่านแบ่งความรู้สึก องเวทนา ออกเป็น ๓ อันมี
       ๑.สุขเวทนา  ความรู้สึก สุขสบาย  ถูกใจ  สบายใจ  ชอบใจ จึงครอบคลุมทั้งฝ่ายกายและจิต  หรือที่เรียกความรู้สึกชนิดนี้กันโดยทั่วไปว่า สุข นั่นเอง
       ๒.ทุกขเวทนา  ความรู้สึก ลำบาก, ความรู้สึกเจ็บปวด, ความรู้สึกเป็นทุกข์, การเสวยอารมณ์ที่ไม่สบาย  ไม่ถูกใจ  ไม่ชอบใจ  อันครอบคลุมทั้งกายและจิตเช่นกัน  หรือที่เรียกความรู้สึกชนิดนี้กันโดยทั่วไปว่า ทุกข์ นั่นเอง
       ๓.อทุกขมสุขเวทนา  ความรู้สึก ไม่สุขไม่ทุกข์  เรียกกันอีกอย่างว่า อุเบกขาเวทนา  หรือที่เรียกกันง่ายๆว่า เฉยๆ หรือไม่มีอะไร ไม่รู้สึกอะไร นั่นเอง

 ๓. สัญญาขันธ์ หมายถึง ส่วนหรือกองของชีวิตที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ ความจำได้ ความทรงจำ ตลอดจนครอบคลุมถึงการหมายรู้  การกำหนดหมาย ปัญญา การประเมินข้อมูล ฯ. จึงย่อมเกิดจากการสั่งสม จดจำประมวลผลตั้งแต่อดีตหรือแต่อ้อนแต่ออกจวบจนปัจจุบัน  อันย่อมใช้สมองส่วนหนึ่งในการบันทึกเก็บจำ ซึ่งย่อมมีข้อมูลอย่างมากมายมหาศาล จนเกินกว่าที่จำได้ทั้งปวงในขณะจิตหนึ่งๆ  สัญญาหรือฝ่ายความจำได้,หมายรู้จึงต้องทำงานหรือเกิดขึ้นในลักษณะเกิดดับ..เกิดดับๆ...ดังนี้อยู่เสมอๆ กล่าวคือ เกิดคือจำขึ้นมาได้ แล้วก็ดับคือลืมลงไปนั่นเอง เป็นไปดังนี้เสมอๆ  ดังเช่นผู้เขียนเอ่ยคำว่าแม่  ท่านก็เกิดสัญญาจำได้ในแม่ขึ้นมาทันที ตั้งอยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็ดับไป   จึงเกิดแล้วดับ เกิดดับๆๆ..ในลักษณนี้อยู่เสมอๆ,   ดังนั้นสมองอันเป็นส่วนหนึ่งหรืออาศัยอยู่ในรูปขันธ์ จึงถูกจัดเป็นหทัยวัตถุอันเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งของจิต  แต่ก็อย่าเข้าใจผิดไปว่าจิตคือสมอง เพราะจิตก็ไม่ได้เกิดแต่เหตุคือสมองแต่อย่างเดียว  เพราะจิตก็ยังเกิดแต่มีเหตุอื่นๆมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งอีกเช่นกัน


๔. สังขารขันธ์ หมายถึง กองหรือส่วนของผล ที่เกิดขึ้นจากขันธ์ต่างๆมาเป็นเหตุปัจจัยกัน กล่าวคือเกิดผลเป็นการกระทำต่างๆขึ้น กล่าวคือ เป็นสิ่งปรุงแต่งทางใจให้เกิดการกระทำ(กรรม)ทางกาย, วาจา, ใจ  กล่าวคือ เกิดเจตนาที่จะกระทำหรือกรรมทางกาย วาจา ใจต่างๆขึ้นมา เช่นการกระทำทางกายทุกๆอย่างคือกายสังขาร เช่นเดิน นอน กิน นั่ง อุจจาระ ปัสสาวะ ฯ.  ทางวาจาหรือวจีสังขาร เช่นการพูด การคุย การอุทานต่างๆ การด่าทอต่อว่า ฯ.  หรือทางใจที่เรียกกันว่ามโนสังขารบ้าง จิตสังขารบ้าง เช่น ความคิด ความนึกต่างๆนาๆขึ้น  อันล้วนย่อมป็น ผล ที่เกิดขึ้นจากการเป็นเหตุปัจจัยปรุงแต่งกันร่วมกับขันธ์อื่นๆ หรือจากการผัสสะต่างๆขึ้นนั่นเอง,   อนึ่งพึงระวังความสับสนจากความเคยชินในภาษาไทย ที่มักใช้คำว่า สังขารในความหมายว่าสังขารกายหรือร่างกายด้วย


 ๕. วิญญาณขันธ์ ความรู้แจ้งในอารมณ์  พอที่จะกล่าวแสดงในแบบทางโลกให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นได้ว่า หมายถึง กองหรือหมวดหมู่ ของระบบประสาททั้งปวงนั่นเอง กล่าวคือ วิญญาณมีหน้าที่ ในการรับรู้ คือรู้แจ้งในอารมณ์คือ อายตนะภายนอกทั้งหลาย ที่จรหรือเกิดการกระทบนั้น ก็คือเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่ดั่งระบบประสาทในการสื่อสารต่อเหล่าอายตนะภายนอกทั้งหลาย ที่มากระทบ และแม้แต่ถ่ายทอดข้อมูลต่างๆของชีวิตคือระหว่างขันธ์ต่างๆทั้ง ๕ ด้วยกัน กล่าวคือ ขันธ์ต่างๆล้วนมีการเชื่อมสื่อสารประสานสัมพันธ์หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างขันธ์ด้วยกัน และทั้งต่อเหล่าอายตนะภายนอกทั้งหลายที่จรมากระทบด้วย ก็ล้วนต้องอาศัยวิญญาณนี้นี่เองเป็นตัวเชื่อมประสาน
        การรู้แจ้งในอารมณ์ ของวิญญาณนั้น ต้องทำความเข้าใจกันเล็กน้อย  การรู้แจ้งนี้ มิได้หมายถึงความรู้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งทางด้านปัญญาแต่ประการใด   เป็นเพียงแค่การรับรู้ ในภาพ ในเสียง ในกลิ่น ในรส ฯ.(อายตนะภายนอก)ที่มากระทบต่างๆเท่านั้น  ยังไม่ประกอบไปด้วยความรู้,ความเข้าใจต่างๆใดๆที่หมายถึงปัญญาในสิ่งที่ไปกระทบนั้นๆ,   และวิญญาณมักถูกเข้าใจแบบโลกิยะคือแบบโลกๆแต่ฝ่ายเดียว  จึงมักถูกเข้าใจผิดด้วยมายาของจิตมาตั้งแต่เริ่มรู้ความ และด้วยตำนานเล่าขานที่ถ่ายทอดสืบต่อกันอย่างแรงกล้ามาอย่างช้านาน จนเป็นทิฏฐุปาทานและสีลัพพตุปาทานของปุถุชนกล่าวคือ เมื่อกล่าวถึงวิญญาณ  มักจะเข้าใจในวิญญาณโดยนัยไปว่า เป็นดังเจตภูต หรือปฏิสนธิวิญญาณ ที่หมายถึงวิญญาณที่ลอยละล่องท่องเที่ยวหาที่เกิด  หรือหมายถึง วิญญาณที่ท่องเที่ยวไปในภพน้อยใหญ่และปรภพในลักษณะสัมภเวสี หรือโอปปาติกะ หรือกายทิพย์ หรือเทวดา ฯ.


ขันธ์ ๕ นี้ รูปจัดเป็นรูปธรรม เวทนา,สัญญา,สังขาร,วิญญาณจัดเป็นนามธรรม
เมื่อจัดขันธ์เข้าใน ปรมัตธรรม จะได้

·         วิญญาณขันธ์  จัดเข้าในจิต

·         เวทนาขันธ์ ,สัญญาขันธ์ ,สังขารขันธ์ จัดเข้าในเจตสิก

·         รูปขันธ์ จัดเข้าในรูป

·         การหมดเหตุปัจจัยของนามรูป จัดเข้าในนิพพาน




อ้างอิง
http://www.nkgen.com/772.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น